PM 2.5 คือ ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนซึ่งมีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่ขนจมูกจะกรองฝุ่นชนิดนี้เอาไว้ได้ โดยฝุ่นชนิดนี้จะเดินทางผ่านทางเดินหายใจของเด็ก ผ่านจมูกเข้าไปยังคอ หลอดลม หลอดลมฝอย และถุงลมปอดได้ง่ายดาย และสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปยังระบบหลอดเลือดได้ด้วยเช่นกัน ฝุ่น PM 2.5 นั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฝุ่นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือ การระคายเคืองเท่านั้น แต่ยังนำพาของแถมซึ่งก็คือ สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนักชนิดต่าง ๆ เชื้อโรคระบบทางเดินหายใจทั้งไวรัสและแบคทีเรีย
บทความให้ความรู้ สำหรับเป็นคู่มือให้กับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นสาระความรู้ พร้อมคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองจะสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแล และป้องกันไม่ให้บุตรหลานเกิดการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ได้
O ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อเด็กมากน้อยแค่ไหน ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง ทั้งในผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้นและระยะยาว
- ผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้น มีทั้งในแง่ความเจ็บป่วยได้ง่าย ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ไปจนถึงทำให้ระบบของร่างกายผิดปกติ ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการเรียน การนอน การเจริญเติบโตและการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กๆมากมายทีเดียว
ระบบทางเดินหายใจ การนำพาเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นไวรัส หรือ แบคทีเรียนั้น ทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยขึ้น
อาการภูมิแพ้ ในเด็กอาจเกิดได้ตั้งแต่อายุเฉลี่ย 2 ปีขึ้นไป
ภูมิแพ้อากาศ หรือ โพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมีอาการได้ตั้งแต่น้ำมูกใส ๆไหล หายใจครืดคราด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก น้ำมูกไหลลงคอ จามบ่อย ๆ คันจมูกร่วมกับคันตา คันหู คันเพดานปาก ไอแห้งคันคอ ไอเสมหะ ไปจนถึงการนอนกรน ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมักมีอาการคันตา ขยี้ตาหรือกระพริบตาบ่อย ๆ จากอาการระคายเคือง บางรายมีผื่นขึ้นรอบ ๆ ดวงตา แสบตา แพ้แสง ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กมักมีอาการผื่นคัน แห้ง ลอกตามบริเวณข้อพับต่าง ๆ โดยเฉพาะแขนขา อาจมีลมพิษขึ้นเป็นๆหายๆ มีอาการเจ็บคันคล้ายๆมีแมลงกัดได้เช่นกัน
โรคหอบหืด ในเด็กเล็กมักพบร่วมกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ มักมีอาการไข้ร่วมกับหายใจเหนื่อยส่วนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อาจทำให้อาการกำเริบได้บ่อยครั้งและทำให้สมรรถภาพทางปอดลดลงได้
- ผลกระทบต่อมารดาตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และการคลอดทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ไปจนถึง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในทารก โดยเฉพาะอาการผื่นแพ้ผิวหนังในช่วงขวบปีแรก และส่งผลต่อการพัฒนาเซลล์สมองของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกคลอดเสี่ยงต่อพัฒนาการล่าช้า ก่อให้เกิดปัญหาด้านการพูดและอารมณ์ได้
- ผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว นำพาสารก่อมะเร็ง สารโลหะหนักต่าง ๆ ซึ่งลดสมรรถภาพการทำงานและการฟื้นฟูของปอด รบกวนระบบเผาผลาญพลังงาน ลดสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในคนอายุน้อย ก่อให้เกิดการอักเสบและความเสื่อมสภาพของร่างกายทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้ยาก จึงเกิดร่องรอยจากการบาดเจ็บหรือเซลล์เม็ดสีที่ผิวหนังได้มากขึ้น (การตรวจสมรรถภาพปอดเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 5 ปีขั้นไป)
O วิธีการวินิจฉัยแยกระหว่าง โรคภูมิแพ้ กับอาการจากฝุ่น PM 2.5 ทำอย่างไร
การแยกอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ จากอาการระคายเคืองจากฝุ่น PM 2.5 นั้นอาจทำได้ยาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาการจาก ฝุ่น PM 2.5 นั้น ส่งผลต่อหลาย ๆ ระบบในร่างกายได้มากกว่า จึงมีทั้งความเสื่อมสภาพความอ่อนเพลียร่วมด้วย
ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ สามารถทำได้โดย วิธีการเจาะเลือดตรวจ (Specific IgE Blood testing) และ การสะกิดผิวหนังตรวจ (Skin prick test) ซึ่งมีประโยชน์ใน การรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาดได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น คือ การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ Immunotherapy นั่นเอง
O วิธีการป้องกันฝุ่น PM 2.5
- แบบระยะสั้น
1. การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หน้ากาก N95 คือหน้ากากที่ดีที่สุดในการป้องกันฝุ่น แนะนำให้เริ่มใส่หน้ากากอนามัยในเด็กเล็ก ได้ตั้งแต่อายุ 1-2 ปี ซึ่งอาจใช้เป็นหน้ากากอนามัยแผ่นกรอง 3 ชั้นแทนได้
2. ตรวจสอบค่าดัชนีคุณภาพในอากาศ (ค่า AQI- Air quality Index) เป็นประจำ
3. การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอาคาร หรือการใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดพกพานั้น สามารถลดปริมาณฝุ่นก่อนเข้าทางเดินหายใจได้
4. Spray พ่นจมูกชนิดผง ใช้พ่นเข้าในโพรงจมูกโดยตรง เพื่อดักจับ สารก่อภูมิแพ้ เชื้อไวรัส รวมถึง ฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูกได้
- แบบระยะยาว
1. ช่วยกันลดกระบวนการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์
2. ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำงาน หรือ สิ่งแวดล้อมรอบตัว
3. หมั่นตรวจสภาพอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสภาพรถยนต์ เพื่อลดการเผาไหม้จนเกิดมลภาวะทางอากาศ
สำหรับสัญญาณเตือนว่า ลูกมีอาการที่ต้องรีบพามาพบแพทย์ ได้แก่
- เจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจบ่อยมากขึ้น หายได้ยาก
- มีอาการหอบเหนื่อย ร่วมกับการเป็นไข้ไม่สบายทุกครั้ง
- เด็กทำกิจวัตรประจำวันได้ลดลง บ่นเหนื่อย อ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด
- อาการภูมิแพ้กำเริบบ่อยครั้ง จนต้องใช้ยาควบคุมอาการที่มากขึ้น
สุดท้ายนี้การดูแลสุขภาพของตนเอง เพิ่มความแข็งแรงของสภาพร่างกายของเราโดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ ที่มีวิตามิน บี ซี อี ธัญพืชที่มี omega และ fish oil การดื่มน้ำสะอาดปริมาณอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อนให้เพียงพอย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และใกล้ตัวที่สุดในการป้องกันภัยเงียบตัวจิ๋ว ฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โทร. 02-483-9999 I Line: @navavej I www.navavej.com