“ทิพานัน” ยันยุบสภาฯ ไม่กระทบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ย้อนแสบ “ทักษิณ” ช่วยรีวิวคดีโกงชาติ ยุครัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ที่ทำรัฐล้มเหลวสูงสุดในประวัติศาสต์บ้าง ย้ำบัตรนี้คือ "รัฐสวัสดิการพื้นฐาน"ที่กลุ่มมีสิทธิควรได้ ยัน “พล.อ.ประยุทธ์” ทำแล้วทำอยู่ทำต่อ มุ่งสร้างรายได้ประชาชนผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วันไม่เกิน 60วันนั้น ขอย้ำกับพี่น้องประชาชนผู้ผ่านเกณฑ์และยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำเร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ตามกำหนดการที่กำหนดไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้ผ่านเกณฑ์และยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเรียบร้อยแล้ว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. มีผู้ผ่านเกณฑ์โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ยืนยันตัวตนสำเร็จ 11,383,700 ราย คิดเป็น 77.99% ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 14,596,820 ราย โดยมีจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ทั้งสิ้น 1,122,950 ราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งยกระดับสวัสดิการประชาชน ขยายผลการดูแลให้ทั่วถึงเท่าเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
“ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร วิจารณ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่าแจกเงินแบบไม่คิดนั้น จะสังเกตว่านายทักษิณ วิจารณ์โจมตีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งตนก็ได้ทวงถามถึงความชัดเจนว่าจะเสนอให้พรรคเพื่อไทยยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ ทั้งที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น "บัตรรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐาน" ที่ประสบความสำเร็จประชาชนพึงพอใจมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประชาชนอยากให้นายทักษิน รีวิวบ้างคือ รัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว คดีจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก คดีปล่อยกู้กรุงไทยที่ปล่อยให้ลูกน้องติดคุกแทน และอีกอีกหลายคดี จนกลายเป็นรัฐล้มเหลวมากที่สุดในประวัติศาสตร์" น.ส.ทิพานัน กล่าว
ส่วนการเพิ่มรายได้ประชาชน เป็นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ทำแล้ว ซึ่งได้แยกจากการการให้สวัสดิการพื้นฐานของรัฐที่แระชาชนตามกลุ่มเป้าหมายควรได้ โดยผ่านโครงการต่างๆ ที่ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพและยกระดับรายได้ การต่อยอดยกระดับอุตสาหกรรมเดิม และ7 อุตสาหกรรมใหม่ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ มีการสนับสนุนให้การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ มีการจัดการผลผลิต/ตลาดใส่ใจคุณภาพ ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อยกระดับรายได้ และอื่นๆอีกมาก เป็นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำแล้ว ทำอยู่ และเชื่อว่าประชาชนจะไว้วางใจให้พล.อ.ประยุทธ์ ทำต่อ”น.ส.ทิพานัน กล่าว