ส.อ.ท.เผยผิดหวังค่าไฟงวดใหม่ ถามทำใมประชาชนจ่ายแพงขึ้น ตั้งคำถาม 3 ข้อค่าไฟฟ้ารอบใหม่ สมมติฐานการคำนวณเพื่ออะไร-ใครได้ประโยชน์ เสนอปรับการคำนวณค่าเอฟที จาก 3 งวด เป็น 6 งวดให้สอดคล้องสถานการณ์

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ยอมรับผิดหวังกับมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ที่เคาะค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.66 อยู่ที่ 98.27 สตางค์/หน่วย ทำให้ประชาชน ภาคธุรกิจจ่ายไฟฟ้าอัตราเดียวคือ 4.77 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจลดลง 56 สตางค์ต่อหน่วย แต่ค่าไฟบ้านกลับแพงขึ้น 5 สตางค์/หน่วย จากเดิมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย  

โดยค่าไฟรอบใหม่ ไม่ได้ช่วยครัวเรือนเลย ทำไมครัวเรือนต้องจ่ายแพงขึ้น จากเดิมทั้งๆที่รอบ พ.ค.-ส.ค.ทิศทางราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงทำไมภาครัฐไม่ ปรับสมมติฐานราคาให้เป็นบวกกับผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งงวดนี้ค่าเอฟทีลงมาเพราะปัจจัยภายนอกเช่น ค่าเงินบาท และราคาพลังานทั่วโลกเป็นหลัก ไม่ได้มีกลไกแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และหาทางเลือกอื่นเลยนอกจากแก๊สในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงพลังงาน กกพ.และ กกร.ตามที่มีการหารือเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และแม้ว่า กพช.จะมีมติให้ลดค่าไฟฟ้าราคาลงมาและใช้ราคาเดียวทั้งครัวเรือน แต่ กกพ.ยังใช้สมมุติฐานค่าพลังงานที่ Conservative ในการคิดค่าไฟฟ้า อีกทั้งยังเร่งรัดคืนหนี้ให้กับ กฟผ.มากเกินไป ทั้งๆที่เป็นช่วงราคาพลังงานขาลง จึงเห็นว่าควรมีทางออกเรื่องหนี้ กฟผ.มากกว่านี้  และมองว่า ภาครัฐควรทำให้ค่าเอฟทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่ำกว่านี้ เพื่อลดภาระของประชาชน และภาวะการแข่งขันของภาคธุรกิจ ในช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย

ทั้งนี้ได้ตั้งคำถามส่งถึงภาครัฐถึงการบริหารจัดการไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศที่กระทบครัวเรือนทุกคน ตลอดจนถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจที่กำลังเร่งฟื้นฟูในข่วงภาวะเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว และแข่งขันรุนแรงในระดับประเทศ โดยมีคำถามดังนี้ 1.สมมุติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้า ที่ไม่ตอบโจทย์ โโยค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวด 1/66 (ม.ค-เม.ย.66) เลือกใช้สมมุติฐานช่วง Peak ทั้งต้นทุนพลังงานโลก และค่าเงินบาทผลคือ ภาคธุรกิจต้นทุนสูงขึ้น 13% จาก 4.72 เป็น 5.33 บาท/หน่วย (เมื่อ 28 ธ.ค.65) แต่ต้นเดือน ม.ค.66 พบว่า สมมุติฐานที่วางไว้สูงเกินไป และค่าไฟฟ้างวด 2/66 (พ.ค-ส.ค.66) ช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง รวมค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ภาครัฐกลับเลือกใช้สมมุติฐานตัวเลขของเดือน ม.ค.66(ที่ไม่ updated กับภาวะขาลง)ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มีค.66 แต่คนไทยต้องรับตัวเลขค่าไฟฟ้าที่สูงเกินจริง ตลอด พ.ค-ส.ค.66 เพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์

2.การเร่งรัดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดๆในช่วงปลายเทอมของรัฐบาลเช่น ไฟฟ้าสีเขียว ทั้ง 5,203 MW และ ส่วนเพิ่ม 3,668 MW แบบเร่งรีบ ทั้งๆที่กำลังมีเอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครองต่อกระบวนการคัดเลือกที่น่ากังขา โครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ทั้งๆที่ประเทศไทยยังมีการผลิตของโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการกว่า 50% ไม่ควรจะเร่งรีบในข่วงปลายเทอมรัฐบาล

3.ปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายกลับไม่มีใครพูดถึงทางออกใดๆเลยเช่น ต้นทุนที่สูงของค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นค่าพร้อมจ่าย,ต้นทุนแฝง อื่นๆจากภาวะซัพพลายเกินดีมานด์กว่า 50% อีกทั้งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหลือ 30% ขณะที่สัดส่วนของเอกชนรวมการนำเข้าสูงถึง 70%

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นในเรื่องของการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศที่ยังไม่เหมาะสมเป็นธรรมระหว่างภาคปิโตรเคมี และไฟฟ้า อีกทั้งยังมีประเด็นในเรื่องการแข่งขันเสรี (ผ่าน TPA) ในระบบ Logistics ของไฟฟ้า และ LNG เพื่อลดการผูกขาดใดๆ

โดยผลประโยชน์เรื่องค่าไฟฟ้ามองง่ายๆตามหลัก Zero Sum Game เราสามารถสรุปได้ว่า ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายราย ต่างก็มีผลประกอบการที่มีกำไร และเติบโตกันถ้วนหน้า ในขณะที่ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนเพียง 30% และแบกภาระหนี้ ร่วม 1 แสนล้านบาทจากการแบกภาระอุ้มกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงขออนุญาตฝากการบ้านถึงทีมบริหารเศรษฐกิจที่เก่งๆของแต่ละพรรคการเมือง ให้ช่วยหาทางออกและคำตอบที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย

ทั้งนี้มีข้อเสนอเดี่ยวกับการคิดค่าเอฟทีในช่วงพลังงาน และเศรษฐกิจโลกผันผวนว่าควรเปลี่ยนจาก 3 งวด/ปี หรืองวดละ 4 เดือน เป็น 6 งวด/ปี หรือทุก 2 เดือน เพื่อ dynamic และ response ต้นทุนค่าไฟฟ้า ได้รวดเร็ว แม่นยำ มากขึ้น