จากการรายงานผลการวิเคราะห์อุตสาหกรรมของยูพีเอส คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าในเอเชียของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นถึงสองเท่าภายในปี 2030 โดยหากไทยอาศัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการพัฒนามาตรฐานการครองชีพ อาจส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและ 11 ตลาดหลักอื่นๆ ใน “เอเชีย-12” มีโอกาสเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 255 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 554 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
การรายงานของยูพีเอสในหัวข้อ เคลียร์รันเวย์เพื่อการค้าภายในเอเชีย (Clearing the Runway for Intra-Asia Trade) ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางการค้า และอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสิ่งที่บริษัทและผู้เกี่ยวข้องควรลงมือทำเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายปี 2030 รายงานยังระบุถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์สี่กลุ่มที่ผลักดันการค้าขายในเอเชียของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยานยนต์ (IM&A) เทคโนโลยีขั้นสูง และธุรกิจด้านสุขภาพ โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์สี่กลุ่มข้างต้นคิดเป็นสัดส่วน 73 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการค้าขายภายในเอเชียทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2020
การค้าขายในเอเชียจะมีศักยภาพอันน่าเหลือเชื่อในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากการเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำในภูมิภาคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยความแข็งแกร่งของเครือข่ายทั่วโลกของยูพีเอส และความเชี่ยวชาญในการเป็นตัวแทนด้านการเคลียร์สินค้า ทางบริษัทฯ ได้ช่วยภาครัฐในตลาดเอเชียต่างๆ รวมถึงคู่ค้าในอุตสาหกรรม และลูกค้าของเราในการขับเคลื่อนการค้าทั่วโลกตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา โดยรายงานฉบับนี้ได้รวบรวมความเชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึกใหม่ล่าสุด เพื่อเผยถึงโอกาสและความท้าทายทางการค้าภายในเอเชียในช่วง 10 ปีข้างหน้าและต่อๆไป
การค้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตและยานยนต์ (IM&A) ของประเทศไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของการค้าภายในเอเชียทั้งหมดของประเทศไทย โดยมีโอกาสเติบโตมากถึง 50% นอกจากนี้ เทคโนโลยีขั้นสูง ก็ถือเป็นอีกภาคอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการเกื้อหนุนระหว่างประเทศคู่ค้าหลักในภูมิภาค เช่น การพึ่งพากันของเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการค้าในภาคอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต
ธุรกิจในไทยสามารถวางแผนรับมือกับอุปสรรคและหาโอกาส ด้วยการบริหารจัดการซัพพลายเชนไปสู่เส้นทางการค้าที่ยืดหยุ่น เช่นกับมาเลเซีย และกำหนดเป้าหมายเส้นทางการค้าที่มีมูลค่าและการเติบโตสูง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งการบริหารจัดการซัพพลายเชนถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นในกระแสการค้า นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ให้เร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงานมากขึ้น เช่น การใช้โซลูชันใหม่ๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและซัพพลายเชน การใช้เครื่องมือโลจิสติกส์เพื่อติดตามสถานะสินค้าแบบเรียลไทม์ และการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการศุลกากรและการขนส่ง
รัสเซล รี้ด กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าในวันนี้ประเทศไทยจะมีบทบาททางการค้าภายในเอเชียที่ยังไม่มากนัก แต่เราคาดว่าประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วใน 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การจะไปถึงเป้าหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดภายในประเทศและทั่วทั้งซัพพลายเชนเพื่อสร้างซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่น อันถือเป็นส่วนสำคัญในการลดอุปสรรคทางการค้าและช่วยผลักดันการค้าขายภายในเอเชียให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งบทบาทของยูพีเอสนั้นคือการสนับสนุนและให้บริการโซลูชันที่จะเข้ามาช่วยธุรกิจขนาดเล็กในด้านต่างๆ เช่น ด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการค้าและการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า และในขณะเดียวกันเราก็สนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐและธุรกิจต่างๆ เพื่อช่วยลดอุปสรรคทางการค้าขายในปัจจุบัน”
โดยในปัจจุบัน การค้าในตลาดหลัก 12 ตลาดสามารถคิดเป็นเพียงสัดส่วน 88 เปอร์เซ็นต์ ของการค้าภายในเอเชียทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ยูพีเอส พบว่ามูลค่าการค้าภายใน 12 แห่งสามารถเติบโตขึ้นกว่าสองเท่าจาก 6.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เป็น 13.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 เพื่อเพิ่มความมั่นคงในระยะยาวและรับมือกับอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น ประเทศไทยควรเพิ่มการลงทุนในนวัตกรรมซัพพลายเชนและโครงสร้างพื้นฐานและปรับใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในคลังสินค้า การจัดการสินค้าคงคลังบนบล็อกเชน และการติดตามสินค้าเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของซัพพลายเชนให้สอดคล้องกับนโยบาย 'Thailand 4.0' ของรัฐบาล นอกจากนี้ ประเทศไทยควรวางแผนจัดลำดับความสำคัญของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะให้อยู่ในลำดับต้นๆ เพื่อการเติบโตและโอกาสทางการค้าในภูมิภาคในอีก 10 ปีข้างหน้า