วันที่ 22 มีนาคม 2566 ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชากอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พร้อมด้วย รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และ ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันแถลงข่าว ซีเซียม-137 กับยาต้านพิษ พลัสเซียนบลู ที่ห้องประชุมชั้น B อาคารสุโขทัยเพลส ถนนสุโขทัย
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ความรุนแรงของซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีรังสีที่มีผลต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. ผลในระยะสั้น เมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้ หรือ ผลที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อได้รับปริมาณที่สูงมาก จะมีอาการนำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจะมีผลต่อ 3 ระบบหลักของร่างกาย ได้แก่ ระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ 2. ผลระยะยาว ที่สำคัญคือ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
โดยสามารถรับสารซีเซียม-137 ได้ 2 ช่องทาง คือ 1. รับรังสีจากภายนอก สามารถป้องกันได้โดยใช้หลัก TDS Rule (Time, Distance, Shielding) โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด อยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุดและใช้อุปกรณ์ในการกำบังรังสี หรือ 2. รับรังสีจากแหล่งกำเนิดในร่างกาย ที่เกิดจากการสูดหายใจ หรือ รับประทาน สิ่งที่ปนเปื้อนซีเซียม ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญของทั้ง 2 ช่องทาง คือ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณหรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตามจากรายงานค่าปริมาณรังสีในอากาศและตัวอย่างดินรอบ ๆ บริเวณพบว่ายังมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลังซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต
สำหรับ พรัสเซียนบลู ซึ่งใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียมนั้น มีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย เท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนปื้อนตามเสื้อผ้า โดยกลไกการออกฤทธิ์หลัก คือ พรัสเซียนบลู จะจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา อย่างไรก็ตาม พรัสเซียนบลู มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ แม้จะได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษา เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้
ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเองเนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ ซึ่งรังสีของซีเซียมในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสรุปผลการตรวจวัดระดับรังสีในอากาศ วันที่ 21 มีนาคม 2566 บริเวณพื้นที่ 6 จุด รอบโรงงานและพื้นที่ชุมชน พบค่าระดับของรังสีอยู่ในช่วงของค่ารังสีพื้นหลังตามธรรมชาติ ซึ่งสรุปได้ว่า ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ
ขณะที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ยืนยันว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติอยู่ในพื้นที่ และทำการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยมีความมั่นใจว่ายังไม่พบสารปกติ และได้มอบเครื่องตรวจวัดระดับรังสีแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ติดตัวไว้ ซึ่งหากมีรังสีเครื่องตรวจวัดจะแสดงค่ารังสีปรากฏให้เห็น โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ดังนั้นสรุปได้ว่าเวลานี้ยังไม่มีรายงานปัญหาสุขภาพของประชาชนจาก ซีเซียม-137 การตรวจเลือดของคนงานยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งจะมีการตรวจซ้ำอีกในวันที่ 5 เมษายน 2566