วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามเหตุการณ์ กรณีการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 (Cesium, Cs-137) ในโรงงานหลอมโลหะ จังหวัดปราจีนบุรี อย่างต่อเนื่อง สั่งการ กำชับแนวทางการทำงาน ป้องกันผลกระทบ วางแนวทางแก้ไขระยะยาวเพื่อปกป้องประชาชน รวมทั้ง สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ซีเซียม-137 หายออกจากโรงงานได้อย่างไร เพื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หน่วยงานรัฐบาลได้ดำเนินการต่อกรณีซีเซียม-137 ดังนี้  กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตาม สถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังและตอบสนองกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่เกิดเหตุ ณ จังหวัดปราจีนบุรี และดำเนินการตรวจสอบตรวจวัดระดับปริมาณรังสีในพื้นที่โรงงานหลอมโลหะที่เกิดเหตุ โดยพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในเตาหลอมเหล็ก 1 เตา ในระดับต่ำ (0.07- 0.10 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) และในระบบการดูดฝุ่น (Dust Filter) และระบบกรองฝุ่น

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะบรรจุลงในถุงขนาดใหญ่และนำไปจัดเก็บรวมกับ 24 ถุงที่ตรวจสอบพบการปนเปื้อนก่อนหน้านี้ ขณะที่ในชิ้นส่วนอุปกรณ์ถ่ายเทน้ำเหล็กไม่พบการปนเปื้อน และจากการตรวจวัดระดับปริมาณรังสีบริเวณหน้าดินในพื้นที่โรงงาน และปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม พบว่าระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับเท่ากับระดับปริมาณรังสีในธรรมชาติ (0.03-0.05 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง) ทั้งในพื้นที่โรงงานที่เกิดเหตุและพื้นที่โดยรอบโรงงาน รัศมีประมาณ 3 กิโลเมตร ได้เก็บตัวอย่างน้ำ ดิน ในบริเวณโรงงานโดยรอบมาวิเคราะห์ และไม่พบว่าปนเปื้อน ขณะที่การตรวจวัดระดับรังสีไม่พบการฟุ้งกระจายในอากาศในอาคาร และไม่มีการปนเปื้อนออกมาภายนอก

โดยขณะนี้สารกัมมันตรังสีซีเซียมถูกบรรจุในถุงบิ๊กแบ็ก ซึ่งถูกควบคุมและจำกัดพื้นที่แล้ว ส่วนสุขภาพของประชาชน ได้ตรวจสอบพนักงานภายในโรงงานกว่า 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยได้เก็บปัสสาวะและเลือดเพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสีตามวิธีมาตรฐาน และจากการตรวจสอบประวัติสุขภาพย้อนหลัง 1 เดือนของประชาชนในจังหวัดปราจีนบุรีจากรายงานของโรงพยาบาลไม่พบประชาชนรายใดมีอาการสุ่มเสี่ยงว่าเจ็บป่วยจากการได้รับสารกัมมันตรังสี

ด้าน กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสรุปผลการตรวจวัดระดับรังสีในอากาศ วันที่ 21 มีนาคม 2566 บริเวณพื้นที่ 6 จุด รอบโรงงานและพื้นที่ชุมชน พบค่าระดับของรังสีอยู่ในช่วงของค่ารังสีพื้นหลังตามธรรมชาติ (natural background radiation) ซึ่งสรุปได้ว่า ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ

ทั้งนี้ จังหวัดปราจีนบุรีได้ประกาศให้กันบริเวณโรงงานเป็นเขตควบคุม พร้อมยืนยันว่าซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นโลหะถูกควบคุมและกำจัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ และดำเนินการตรวจหาสารปนเปื้อนในร่างกายของพนักงานทุกคนรวม 70 คน ทำการตรวจหาสารปนเปื้อนในร่างกายของพนักงาน แต่ไม่มีสารปนเปื้อนตามร่างกายของพนักงาน

ส่วน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ยืนยันว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติอยู่ในพื้นที่ และทำการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยมีความมั่นใจว่ายังไม่พบสารปกติ และได้มอบเครื่องตรวจวัดระดับรังสีแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ติดตัวไว้ ซึ่งหากมีรังสีเครื่องตรวจวัดจะแสดงค่ารังสีปรากฏให้เห็น โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนรับมือหากเกิดการปนเปื้อนในร่างกาย แต่จนถึงขณะนี้ผลการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ในโรงหลอมและชาวบ้านโดยรอบ ยังไม่พบการปนเปื้อน และล่าสุด ได้เปิดสายด่วน 24 ชั่วโมง ให้ประชาชนโทรสอบถามข้อมูลหากสงสัยว่าเสี่ยง ส่วนการตรวจสุขภาพชาวบ้านรอบโรงงาน อยู่ในแผนการตรวจอยู่แล้ว โดยตั้งเป้าว่า จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างน้อย 5 ปี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศาสตราจารย์นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ความรุนแรงของซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีรังสีที่มีผลต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับ 

สำหรับผลต่อร่างกาย แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. ผลในระยะสั้น เมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้ หรือ ผลที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อได้รับปริมาณที่สูงมาก จะมีอาการนำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจะมีผลต่อ 3 ระบบหลักของร่างกาย ได้แก่ ระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ 2. ผลระยะยาว ที่สำคัญคือ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

โดยสามารถรับสารซีเซียม-137 ได้ 2 ช่องทาง คือ 1. รับรังสีจากภายนอก (external radiation hazard) สามารถป้องกันได้โดยใช้หลัก TDS Rule (Time, Distance, Shielding) โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด อยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุดและใช้อุปกรณ์ในการกำบังรังสี หรือ 2. รับรังสีจากแหล่งกำเนิดในร่างกาย (internal radiation hazard) ที่เกิดจากการสูดหายใจ (inhalation) หรือ รับประทาน (ingestion) สิ่งที่ปนเปื้อนซีเซียม 

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญของทั้ง 2 ช่องทาง คือ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณหรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตามจากรายงานค่าปริมาณรังสีในอากาศและตัวอย่างดินรอบ ๆ บริเวณพบว่ายังมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลังซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต 

“ยืนยันว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานปัญหาสุขภาพของประชาชนจาก ซีเซียม-137 การตรวจเลือดของคนงานยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และจะตรวจซ้ำอีกในวันที่ 5 เมษายน 2566 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลความปลอดภัยของประชาชนและดูแลการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทุกจุดรัศมีโดยรอบ ทั้งดิน น้ำ อากาศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การทำงานตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังอย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสี ขอให้ประชาชนไม่ตระหนก ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้” นายอนุชา กล่าว