นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit) หรือ BRT กำลังจะหมดสัญญาเดินรถในเดือนสิงหาคมนี้ ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการไม่มาก จึงกำลังพิจารณาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแนวคิดว่า จะให้บริการถี่ขึ้นประกอบกับลดค่าบริการลง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการทบทวนการให้บริการรถ BRT ให้คุ้มทุน หากเดินรถต่อต้องหาทางเพิ่มจำนวนรถในราคาไม่สูงเท่าปัจจุบัน รวมถึงมีการทบทวนปรับปรุงรถจากที่เปิดประตูขวาเพราะวิ่งบนเลนกลางที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ปรับเปลี่ยนเป็นการให้บริการแบบรถเมล์ทั่วไป แล้วเพิ่มป้ายรถเมล์มากขึ้นตามสี่แยกต่างๆ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันป้ายรถBRT มีจำนวนน้อย ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) เร่งทบทวนปรับปรุงการให้บริการก่อนที่สัญญาเดินรถจะหมดในเดือนสิงหาคมนี้
นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.พยายามลดค่าใช้จ่ายระบบการให้บริการขนส่งมวลชนลง เช่น การเดินเรือไฟฟ้าในคลองผดุงฯ ปัจจุบันลดค่าใช้จ่ายในการเดินเรือจากเดือนละ 2,400,000 บาท เป็น 1,800,000 บาท โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการเดินเรือ ปัจจุบันมีผู้โดยสารวันละ 450 คน โดยแบ่งเป็นช่วงเช้าประมาณ 100 คน เดินทางมาจากท่าเรือเทเวศร์เพื่อมาต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนช่วงเย็นมีผู้โดยสารประมาณ 350 คน ส่วนช่วงกลางวันยังไม่มีผู้โดยสารใช้บริการ ส่วนในวันเสาร์อาทิตย์มีผู้โดยสารน้อย โดยภาพรวมการให้บริการเรือไฟฟ้าคลองผดุงฯ ถือว่ายังมีผู้ใช้บริการน้อย ในอนาคต กทม.อาจปรับปรุงขยายเส้นทางการให้บริการ โดยทดลองให้บริการถึงคลองบางลำพูเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการสัญจร จากสำรวจพบว่า ตลอดคลองบางลำพูมีจุดท่องเที่ยว เช่น วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดภูเขาทอง เป็นต้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการให้บริการเรือขนส่งที่คลองแสนแสบเชื่อมต่อจากวัดศรีบุญเรือง ซึ่งยังเหลือสัญญาการให้บริการอยู่ มีผู้โดยสารประมาฯ 400 คนต่อวัน ระยะทางประมาณ 10.5 กิโลเมตร ปัญหาคือทางสัญจรติดประตูน้ำบางชัน จึงต้องให้ผู้โดยสารเปลี่ยนเรือเพื่อเดินทางต่อไป ขณะเดียวกัน กทม.ต้องใช้เรือจำนวนมากกว่าคลองอื่นๆ จึงอาจมีการทบทวนปรับปรุงการให้บริการอีกครั้งก่อนจะหมดสัญญาในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมถึงทบทวนการให้บริการเรือที่คลองภาษีเจริญซึ่งยกเลิกไปเพราะมีผู้ใช้บริการน้อย เนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งคู่ขนานคลอง อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขมซึ่งอยู่ปลายคลอง อาจยังมีความจำเป็นต้องใช้บริการเรือ จึงสั่งการให้ทบทวนการให้บริการในรูปแบบเหมาจ่าย และศึกษาถึงความเป็นไปได้เพิ่มเติม รวมถึงการให้บริการที่คลองลาดพร้าว คลองประเวศฯ ซึ่งอาจยังมีประชาชนจำเป็นต้องใช้บริการอยู่ เพราะคลองดังกล่าวตัดผ่านรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง
นายชัชชาติ กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนของ กทม.ยังมีรถ BMA Feeder หรือรถบัสให้บริการประชาชนอีกช่องทางหนึ่ง โดยเส้นทางแรกเน้นวิ่งตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสสิ้นสุดที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 500 คน เส้นทางที่สองวิ่งจากเคหะร่มเกล้าไปแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เขตลาดกระบัง มีผู้โดยสารหลักพันคนต่อวัน ซึ่งประชาชนตอบรับและต้องการให้เพิ่มเที่ยวรถ ทั้งนี้ ได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการเพิ่มเติม โดยนำรถไปบริการที่ตลาดน้ำตลิ่งชันในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สามารถเพิ่มผู้โดยสารหลักพันคนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถ BMA Feeder ให้บริการฟรีทุกเส้นทาง ในอนาคต กทม.จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเดินรถและเก็บค่าโดยสารในราคาต่ำ ซึ่งจะทำให้สามารถขยายเส้นทางการให้บริการได้มากขึ้น