กนอ.เล็งนำแนวคิด 4 บริษัทภาคี Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) ประยุกต์ใช้ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนเอเชีย ด้วยการขับเคลื่อนยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบสมรรถนะรถยนต์ ซึ่งจัดโดย 4 บริษัทภาคี คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิบ เทคโนโลยี คอร์เปอร์เรชั่น (Commercial Japan Partnership Technologies : CJPT) ประกอบด้วย บริษัท อีซูซุมอเตอร์ส จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ซูซุกิ มอเตอร์ คอร์เปอร์เรชั่น และบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ร่วมกับบริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส จำกัด โดยภายในงานมีการจัดแสดงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) เพื่อลดปัญหาที่พบในระบบขนส่ง รวมถึงการจัดการด้านพลังงาน (Energy Solution) ทางเลือกด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution) เช่น การจัดสรรยานพาหนะตามเป้าหมายการใช้งานอย่างเหมาะสม การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ และการจัดการบริหารข้อมูล (Data Solution)

โดยแนวคิดของ CJPT เป็นการพัฒนาระบบยานยนต์แห่งอนาคตในแง่ของทางเลือกด้านพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการพลังงาน และการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ กนอ.ในการประกาศเจตนารมณ์ให้นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่อนุญาตให้มีปล่องระบายมลพิษทางอากาศ โดย กนอ.จะนำแนวคิดที่ได้ไปส่งเสริมการจัดการพลังงานภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังรวมถึงส่งเสริมระบบการขนส่งภายในโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดและปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะดำเนินการได้ถึงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาบนพื้นฐานเดิม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์โดยใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานไฮโดรเจน เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ รวมทั้งพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการสำหรับยานยนต์ที่พัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันยานยนต์ใหม่ ครอบคลุมถึงรถบัสและรถจักรยานยนต์ เพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงต่ำในการคมนาคมแต่ให้ประสิทธิภาพสูง อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) ) เป็นต้น

สำหรับโครงการ CJPT ปักหมุดก้าวแรกจากประเทศไทย และมีแผนขยายการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอนสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อยกระดับชีวิตของคนในภูมิภาค ขณะเดียวกันยังนำเสนอทางเลือกด้านการขับเคลื่อนที่เหมาะสมคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน