วันที่ 22 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 67,142 คน ตายเพิ่ม 256 คน รวมแล้วติดไป 682,687,889 คน เสียชีวิตรวม 6,820,990 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.78

...อัพเดต Long COVID

ช่วงนี้ WHO Europe ได้สื่อสารกระตุ้นเตือนประชาชนเรื่อง Long COVID อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เตือนว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งจะเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาผิดปกติอย่าง Long COVID ตามมาได้ 10-20% (อย่างไรก็ตาม หากติดตามอัพเดตกันมาตลอดจะทราบว่าอัตราการเกิด Long COVID นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละรายงานทั่วโลกและมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ติดเชื้อมีอาการรุนแรงจะเสี่ยงมากกว่าอาการน้อย หญิงเสี่ยงกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก และช่วงของการติดเชื้อแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉลี่ยแล้วปัจจุบันจะอยู่ราว 10% พิสัยราว 5-15%)

อาการผิดปกติมีหลากหลายระบบในร่างกาย ตั้งแต่สมองและระบบประสาท ปัญหาด้านความคิดความจำ ระบบทางเดินหายใจ ปัญหาด้านการรับรสและดมกลิ่น ใจสั่น เหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย รวมถึงปัญหาด้านการนอนหลับ ฯลฯ

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่ควรตระหนักถึงเสมอระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน

...ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมงานจากประเทศเกาหลีใต้ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่ทำการประเมินลักษณะอาการ Long COVID ในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติแล้วมารับการรักษาที่คลินิก Long COVID จำนวน 440 คน

ก็พบลักษณะอาการที่สอดคล้องกับที่พบทั่วโลก โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวดหัว เวียนหัว ปัญหาด้านความคิดความจำ นอนไม่หลับ รวมถึงการรับรสและการดมกลิ่น

...ด้วยความรู้ทางการแพทย์จากการศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบัน คอนเฟิร์มชัดเจนว่า Long COVID นั้นกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ บั่นทอนคุณภาพชีวิต และเกิดผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาวได้

ไทยเราจึงควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเป็นกิจวัตร

ระมัดระวังพฤติกรรมเสียง การคลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกัน การแชร์ของกินของใช้ เลี่ยงที่แออัด

ปรับสภาพแวดล้อมที่บ้าน ที่ทำงาน ให้มีการระบายอากาศให้ดี

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

Neurological and Psychiatric Manifestations of Post-COVID-19 Conditions. J Korean Med Sci. 2023 Mar 20;38(11):e83.