วันที่ 21 มี.ค.2566 ที่สำนักการจราจรและขนส่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมติดตามผลการดำเนินงานของสำนักการจราจรและขนส่ง ในกิจกรรมผู้ว่าฯ กทม. สัญจร สำนักการจราจรและขนส่ง ว่า สำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.)ดูแลเรื่องการจราจร กล้องวงจรปิด รถไฟฟ้า รถบีอาร์ที ป้ายรถเมล์ ป้ายโฆษณา ซึ่งปัจจุบันมี 1,170 ป้าย โดยรวม สจส.มีรายได้ปีละประมาณ 120 ล้านบาท เรื่องสำคัญคือความปลอดภัยปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 800 คน โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงปีละประมาณ 160 คน หรือ 20% จากทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตเกิดจาก 2 ส่วน คือ 1.ด้านพฤติกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก ต้องรณรงค์กับภาคีเครือข่าย เช่น สวมหมวกกันน็อก ประกอบกับรวบรวมจุดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อย เพื่อนำมาปรับปรุงต่อไป คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ 2.ด้านกายภาพ ในปี 2566 กทม.ปรับปรุงทางม้าลายเพิ่มประมาณ 1,200 จุด โดยทาสีขาว 500 จุด ทาสีแดง 210 จุด ปรับปรุงจุดทรุดโทรม 507 จุด โดยปี 2567 ตั้งเป้าปรับปรุงเพิ่ม 1,300 จุด รวมทางม้าลายทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,800 จุด ทั้งนี้ ในปี 2566 จะมีการติดตั้งสัญญาณไฟทางแยกเพิ่ม104 จุด และไฟสำหรับกดข้ามถนน 52 จุด สัญญาณไฟกระพริบ 50 จุด

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือ กล้อง CCTV(วงจรปิด) ซึ่งสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยและเรื่องจราจรปัจจุบันมีการเชื่อมต่อสัญญาณกับตำรวจจราจรประมาณ 80 กล้อง โดยปรับให้ประชาชนสามารถขอดูกล้องวงจรปิดผ่านระบบออนไลน์ ปัจจุบันมีประชาชนใช้บริการประมาณ 30% และขอดูกล้องวงจรปิดโดยตรงประมาณเดือนละ4,000 ราย ทั้งนี้ค่าบำรุงรักษากล้อง CCTV มีราคาสูงถึงปีละประมาณ 800 ล้านบาท กทม.กำลังหาแนวทางจัดตั้งศูนย์สั่งการแบบจุดเดียวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและรวบรวมข้อมูลจากกล้อง CCTV รวมถึงประสานงานกับตำรวจราจร เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอยู่ในแผนงบประมาณปี 2567 

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.กำลังติดตั้งระบบ Area Traffic Control เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณไฟจราจรผ่านศูนย์ควบคุมแบบอัตโนมัติ สามารถคำนวณความหนาแน่นของรถบนถนน และปล่อยสัญญาณไฟจราจรตามสภาพความแออัดที่เกิดขึ้นจริง เพื่อบริหารจัดการรถติดได้ดีขึ้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาแล้ว ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2567