สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงหมูทั่วไทยได้หายใจกันทั่วท้องมากขึ้น หลังกรมการค้าภายในประกาศปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้น 4 บาท ทำให้ราคาไปอยู่ที่ 84.5 บาทต่อกิโลกรัม จากที่ยืนนิ่ง 80.5 บาทต่อกิโลกรัมมาเกินกว่า 1 เดือน และหากเปรียบเทียบราคาสุกรตั้งแต่ต้นปีราคาร่วงไปแล้ว 18 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยขายพอคุ้มทุนที่ 100 บาท มาเกือบ 7-8 เดือนที่ผ่านมา เดือนธันวาคม 2565 ราคาเริ่มย่อตัวเล็กน้อยแต่ไม่แรงเท่ากับต้นปี 2566 จนถึงที่สุดคือ 76-80 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี่เอง จนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สุดทนต้องเรียกประชุมเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐหาแนวทางในการพยุงราคา “หมูเป็น” ให้สมดุลกับต้นทุนการผลิตที่ต้องแบกกันอยู่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูคงต้องอำลาวงการรวดเร็วตามราคาหมูที่ตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคร้องเสียงดังๆ ว่า เนื้อหมูบนเขียงในตลาดสดราคาไม่ปรับลดลงเหมือนราคาหมูหน้าฟาร์มเลย เพราะพ่อค้า-แม่ค้ายังคงขายในราคาสูง เช่น เนื้อแดง ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 180-200 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ภาครัฐกล่าวว่า เนื้อหมูถูกมีอยู่จริงขอให้ซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าส่ง หรือคาราวานสินค้าของภาครัฐ
พรรคการเมืองและหน่วยงานภาครัฐ ที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าและราคาวัตถุดิบในการผลิตต้องหาทางรักษาสมดุลใช้กลไกตลาด (อุปสงค์-อุปทาน) เป็นตัวกำหนดราคาขาย ให้ภาคการผลิตและภาคการบริโภคได้รับความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ยิ่งช่วงเลือกตั้งหาเสียงขณะนี้ หากนำกลยุทธ์ “สินค้าราคาถูก” มาเป็นหนึ่งในนโยบายเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ก็ควรจะมีกลยุทธ์ “ต้นทุนแข่งขันได้” เพื่อรักษาคะแนนเสียงจากฝ่ายผลิตไว้ เพราะความไม่ยุติธรรมจากการแบกภาระขาดทุนจากต้นทุนสูงขึ้นตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ประทุเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว แต่ราคาสินค้าคงเดิม ไม่มีประเทศไหนไปรอดแน่นอน แต่จะสร้างปัญหาใหม่ คือ สินค้าขาดตลาด หายากและราคาแพง (เพราะผู้ผลิตหยุดการผลิต) เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเขามาฉวยประโยชน์ไปโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
ย้อนกลับไปปัญหาของอุตสาหกรรมสุกรของไทย เริ่มต้นจากไทยยอมรับว่าพบโรคระบาด ASF ผลผลิตแม่พันธุ์และหมูขุนหายไป 50% เกือบ 1 เดือนหลังจากนั้นก็เกิดสงครามที่ยังคงยืดเยื้อเกินกว่า 1 ปี วัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาน้ำมันทะยานขึ้น 20-30% จนถึงวันนี้ยังไม่ปรับลดไปอยู่ที่เดิมและยังอยู่ในระดับสูง เมื่อหมูในประเทศขาด “มิจฉาชีพ” ทำงานเกือบจะทันที “หมูเถื่อน” จากต่างประเทศ เข้ามาหาประโยชน์จากส่วนต่างราคาในประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มสูงถึง 110-115 บาทต่อกิโลกรัม เนื้อหมูสามชั้น 250-280 บาทต่อกิโลกรัม หมูเนื้อแดง 200-220 บาท ต่อกิโลกรัม เวลานั้นคนไทยเน้นถูกไม่กลัวเสี่ยงจากโรคระบาดสัตว์หรือสารเร่งเนื้อแดงทั้งสิ้น
กว่า 1 ปี ที่ภาครัฐปราบ “หมูเถื่อน” จากที่ผู้เลี้ยงหมูชี้เป้าให้ว่า “ท่าเรือแหลมฉบัง” คือแหล่งนำเข้าใหญ่ที่สุด การตรวจค้นและจับกุมของผิดกฎหมายนอกท่าเรือฯ จึงเริ่มขึ้นโดยหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงประมาณ 5 ครั้ง (สังคมตั้งข้อสังเกต ว่าเหตุใดไม่ตรวจค้นและจับกุมกันที่ท่าเรือฯ) ยังมีตู้คอนเทนเนอร์แบบควมคุมความเย็นต้องสงสัยตกค้างอยู่ที่ท่าเรืออีก 64 ตู้ เปิดไปก่อนหน้านี้เพราะสังคมกดดัน เจอหมูเถื่อน 3 ใน 5 ตู้ ถึงวันนี้หมูเถื่อนยังคงวนเวียนอยู่ในไทยไม่ไปไหน แต่เปลี่ยนรูปแบบการค้าไม่ขาย “โจ๋งครึ่ม” เหมือนที่ผ่านมา และย้ายทางเข้าใหม่ไปตามแนวชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้คนไทยเสี่ยงกับการบริโภคเนื้อหมูที่สารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็น “ศัตรูตัวร้าย” ของผู้เลี้ยงหมู กดราคาในตลาดให้ต่ำ โดยไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใด รัฐเสียรายได้ทำลายเศรษฐกิจ
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองเช่นนี้ ภาครัฐต้องทำหน้าที่ผู้นำบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับคนไทย กำจัด “หมูเถื่อน” ศัตรูของอุตสาหกรรมสุกร และศัตรูตัวร้ายทำลายสุขภาพคนไทย เพิ่มโอกาสการเป็น “มะเร็ง” จากการสะสมของสารเร่งเนื้อแดงที่ต้นทางของหมูเถื่อนยังอนุญาตให้ใช้ได้ หวังว่าภาครัฐและนักการเมืองทุกพรรคจะใส่ใจกำจัดศัตรูของประเทศให้หมดไปภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยไม่ต้องซื้อเวลารอรัฐบาลชุดใหม่มาแก้ปัญหา
โดย : นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิจัยสินค้าเกษตร