ผศ.ดร.พงษ์แพทย์  เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้รับทราบจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ที่ว่า มีตรวจพบการปนเปื้อนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งนั้น ซึ่งนี้คือ แสดงว่ามีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ผ่านการแปรสภาพจากสภาพเดิมไปแล้ว หรือหมายถึงว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้ผ่านกระบวนการหลอมมาแล้วพร้อมกับโลหะอื่นๆ ซึ่งระหว่างกระบวนการหลอม สามารถเกิดผงฝุ่นปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้ และเนื่องจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เป็นวัสดุควบคุมกำกับดูแลการใช้งานซึ่งโดยปกติจะไม่มีการส่งจัดการด้วยวิธีการหลอม ประกอบกับเงื่อนเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผลของการหลอมมาจากท่อบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ได้หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำที่เจ้าหน้าที่กำลังตามหาอยู่ โดยปกติกระบวนการหลอมเหล็กที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลจะเป็นระบบปิด จึงไม่ควรเกิดการฟุ้งกระจายของผงฝุ่นที่เกิดขึ้นออกไปนอกเตาหลอม ซึ่งรวมถึงส่วนที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีตัวนี้ด้วยถ้าหากมีการหลอมปนไปกับเหล็กจริง 

 การหลอมจะทำให้สารกัมมันตรังสีที่แต่เดิมมีลักษณะเป็นก้อนเดียวแยกออกจากกันและมีการกระจายตัวออกไป ทำให้ปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาต่อพื้นที่ลดน้อยลง ส่งผลให้หากมีผู้ได้รับรังสีชนิดนี้ก็ได้รับอันตรายจากการได้รับแผ่รังสีน้อยลงเช่นเดียวกัน  แต่เนื่องจากสารกัมมันตรังสีกลายเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ๆ หรือ ฝุ่น ซึ่งอาจเกิดการฟุ้งกระจายออกไปนอกบริเวณเก็บได้หากมีการปกคลุมไว้ไม่ดีพอ ทำให้มีโอกาสที่มนุษย์จะสูดดมหรือบริโภคเข้าไปภายในร่างกายได้ อย่างไรก็ดี ร่างกายมนุษย์มีกลไกที่สามารถกำจัดซีเซียมออกได้  หากไม่ได้สูดดมหรือบริโภคเข้าไปในปริมาณมาก ก็จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ผศ.ดร.พงษ์แพทย์  กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้ว คนมีโอกาสได้รับรังสีจากสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่แพร่กระจายด้วยกัน 2 วิธี วิธีแรก คือ ฝุ่นปนเปื้อนสารซีเซียม 137 อาจจะฟุ้งมาเกาะตามเสื้อผ้าหรือผิวหนัง โดยฝุ่นซีเซียม 137 นี้ สามารถแผ่รังสีที่ผิวหนังเราได้ หากเป็นเช่นนั้นถอดเสื้อผ้า ชำระล้างร่างกายทันทีด้วยน้ำเปล่า เราก็สามารถกำจัดฝุ่นหรือผงวัสดุกัมมันตรังสีออกจากร่างกายเราได้  วิธีที่สอง คือ การที่เราสูดดมเอาฝุ่นปนเปื้อนสารซีเซียม 137 เข้าไปในร่างกาย หรือกินอาหารที่ปนเปื้อนสารซีเซียม 137 หรือที่มาเกาะบริเวณใกล้จมูกหรือปากเราแล้วมีการเผลอเข้าสู่ร่างกายเรา ก็จะมีการผ่านเข้าไปยังระบบทางเดินอาหาร หรือ ทางเดินหายใจ แต่ด้วยสารซีเซียม 137 นี้มีคุณสมบัติคล้ายกับโพแทสเซียม แม้ว่าจะกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ แต่ก็ถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกายได้ค่อนข้างเร็วตามกลไกเดียวกันกับโพแทสเซียม  หากมีการสะสมจะมีการสะสมตัวอยู่ที่เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ แต่ก็จะสะสมอยู่ไม่นาน ประมาณ 10% สามารถกำจัดออกเร็วโดยจะมีค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพเพียง 2 วัน และส่วนที่เหลือจะถูกกำจัดออกด้วยค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพราว 110 วัน ซึ่งหมายความว่าซีเซียมที่ได้รับจะอยู่ในร่างกายไม่กี่เดือนเท่านั้น และการกำจัดจะเกิดขึ้นเร็วกว่าด้วยในเด็ก

แม้ฝุ่นปนเปื้อนสารซีเซียม 137 ที่ผ่านการหลอมแล้วจะยังแผ่รังสีอยู่ แต่หากมีการจัดการที่ถูกวิธีก็จะช่วยลดความเป็นไปได้ที่จะส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อคนทั่วไปได้ เนื่องจากซีเซียม 137 ที่ผ่านการหล่อหลอมทำให้ความรุนแรงในการปล่อยรังสีต่อพื้นที่ลดน้อยลงไปมาก ต้องสัมผัสเป็นเวลานานจึงจะส่งผลใดๆ ต่อร่างกาย ส่วนฝุ่นปนเปื้อนซีเซียม 137 ค่อนข้างเป็นสารที่มีน้ำหนักทำให้ไม่สามารถกระจายไปตามลมได้ไกลมากนัก ประกอบกับปริมาณที่ไม่มากเพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ที่โรงหลอม การควบคุมพื้นที่ของการปนเปื้อนจึงดำเนินการได้ไม่ยากนัก

ด้านอาจารย์ พงษ์แพทย์  หัวหน้าภาควิศวกรรมนิวเคลียร์ เปิดเผยว่า ทางภาครัฐตระหนักถึงเหตุการณ์ลักษณะนี้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้และมีกระบวนการในการติดตามและเฝ้าระวังเตรียมไว้พอสมควรแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปตามแนวทางที่ปฏิบัติกันในระดับสากล ส่วนวิธีการจัดการกับฝุ่นที่ปนเปื้อนสารรังสีซีเซียม 137 หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ เปิดเผยว่า โดยปกติกากกัมมันตรังสีจะมีวิธีการจัดการที่สามารถเลือกใช้ได้ เช่น การจัดเก็บในภาชนะที่กันการรั่วไหลออกไปได้ง่าย ซึ่งอาจมีการปรับสภาพก่อนการจัดเก็บเพื่อให้อยู่ในรูปที่สะดวกต่อการดูแล เนื่องจากต้องจัดเก็บไปจนกว่าซีเซียม 137 จะสลายตัวจนอยู่ในระดับที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติหรือกำจัดทิ้งได้ ซึ่งซีเซียม 137 มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 30 ปี หมายถึงว่าทุก 30 ปี จำนวนสารซีเซียม 137 จะสลายตัวลดจำนวนไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งตามข้อมูลของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหายไปนี้มีค่ากัมมันตภาพรังสีเริ่มต้นที่ 80 มิลลิคูรี โดยเขาใช้งานมาเกือบ 30 ปีแล้ว นั้นหมายถึงว่า วัสดุนี้เหลืออยู่อีก 40  มิลลิคูรี ที่จะสามารถแผ่รังสีออกมาได้ และอีก 30 ปี ต่อไปข้างหน้า สารรังสีซีเซียม 137 นี้จะสลายตัวไปอีกครึ่งหนึ่งเหลือ 20  มิลลิคูรี สุดท้ายก็จะสลายต่อไปเรื่อย ๆ จนอยู่ในระดับต่ำมาก สามารถปลดปล่อยสู่ธรรมชาติได้

หากผู้ใดในพื้นที่มีความกังวลหรือคาดว่ามีโอกาสประสบกับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 สามารถติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02 218 6781 เพื่อช่วยในการตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบได้