วันที่ 21 มี.ค.66 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" ระบุว่า ...
มีคนถามว่ารู้เรื่อง “ซีเซียม” มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ตรองดู ผมน่าจะรู้จัก “เซียมซี” มาแต่เด็ก จนโตแล้วจึงรู้จัก “ซีเซียม” เมื่อเป็นหมอ หลายปีก่อนมีข่าวซาเล้งเก็บของเก่านำแท่งซีเซียมที่ใช้ทางการแพทย์ด้านรังสีไปเร่ขาย โชคดีว่าไม่ได้มีการแกะวัสดุห่อหุ้มกันเสียก่อน จึงไม่เกิดอันตรายในวงกว้าง จนมาเกิดเรื่องที่ปราจีนบุรี ที่ซีเซียมใช้สำหรับมาตรวัดทางอุตสาหกรรม หายไปแบบยังจับมือใครดมไม่ได้ จึงเริ่มมีการล้อมคอกตื่นตัวปัญหาเดิมๆ กันอีกครั้ง
หากสนใจลองอ่านคำแนะนำของ US CDC ขั้นต้น เรื่องซีเซียมพร้อมแหล่งสืบค้นการดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติม จนไปถึงการรักษาผู้ได้รับพิษด้วย Prussian blue https://www.cdc.gov/.../emergencies/isotopes/cesium.htm
ถ้าการแถลงข่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวานเชื่อถือได้ (หลายคนฝังใจว่าข้าราชการประจำมักพูดอ้อมๆ แอ้มๆ ในเรื่องวิกฤตสาธารณะ เนื่องจากมักมีข้าราชการการเมืองและกลุ่มทุนชักใยเบื้องหลัง) นั่นหมายความว่าซีเซียมในภาชนะเหล็กที่ห่อหุ้ม ได้รับการหลอมละลายในระบบปิด และการตรวจโรงงานต้นเหตุทั้งเจ้าของซีเซียมและคนหลอมซีเซียม ยังไม่พบการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกในปริมาณซึ่งมากพอ ที่สำคัญยังไม่พบคนที่เกี่ยวข้องได้รับสารพิษนี้เข้าไปด้วย แต่การตรวจคงบอกได้แค่ว่าไม่เกิดพิษเฉียบพลัน แต่พิษระยะยาวยังบอกไม่ได้ เพราะการตรวจเราวัดแค่ผลที่เกิดต่อร่างกาย แต่บอกไม่ได้ว่าใครได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าไปบ้างและมากแค่ไหน ช่องทางหลักที่เข้าไปคือ ผิวหนัง ปาก และจมูก (ปอด) โชคดีว่าซีเซียมที่เข้าสู่ร่างกายทางปอดแล้วเกิดอันตราย มีรายงานแต่ในหนูทดลองที่ได้รับในปริมาณสูงมาก https://www.atsdr.cdc.gov/toxprofiles/tp157-c3.pdf
อย่าตระหนกจากข่าวซีเซียมรั่วไหลในบ้านเราเพราะท่านผวจ.ได้รับรองแล้วว่าเป็นการหลอมละลายในระบบปิด ไม่เหมือนการเผาไหม้แบบเปิดโล่งในปริมาณสูงมากๆ จากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ควรเทียบเคียงกับวิกฤตที่ฟูกูชิมะของญี่ปุ่นเมื่อสิบกว่าปีนี้ ในเรื่องของการปนเปื้อนต่อขยะของแข็งและของเหลวในสภาพแวดล้อมโดยรอบ และเขาดักจับได้เมื่อนำขยะเหล่านั้นไปเผาด้วยความร้อนในระบบปิด ดังรูป
https://www.google.com/url?sa=t&source=web&rct=j&url=https://www.ncbi.nl...
ถึงตรงนี้ได้แต่ภาวนาว่า
1. ขยะพิษตกค้างที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการหลอมเหล็กผสมซีเซียมในระบบปิด ทั้งในรูปก๊าซ ของแข็ง และของเหลว ซึ่งเกิดขึ้นมากว่าสามสัปดาห์แล้ว จะไม่หลงเหลือหรือกระจายออกไปมาก
2. การเก็บรักษาและเคลื่อนย้ายขยะพิษจากกัมมันตรังสีที่พิสูจน์ทราบแล้วทั้งที่ปราจีนบุรีและระยอง และที่อื่นหากมีในอนาคต ต้องทำด้วยความรอบคอบและปลอดภัยตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันทั้งบุคคลากรและประชาชนรอบข้าง อย่าได้คิดเองเอาง่ายตามอำเภอใจ
3. อย่างที่เห็นในภาพข่าว อุปกรณ์ปกป้องตนเอง (PPE) จากสารกัมมันตรังสีในสภาพแวดล้อม สำหรับทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ยังไม่ดีพอ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรีบแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐาน
#ขอเสี่ยงเซียมซีให้ทุกคนปลอดภัยจากซีเซียม