หลังวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 (Cs-137) ได้สูญหายไปจากโรงงานไฟฟ้า บริเวณนิคมอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่า ซีเซียม-137 มีความอันตรายแค่ไหน อย่างไร เมื่อโดนสารกัมมันตรังสี ชนิดนี้เล่นงาน และจะเช็กอาการ รวมทั้งวิธีรักษา ต้องทำอย่างไร

วันนี้ “สยามรัฐออนไลน์” ขอเปิดข้อมูล รายละเอียดให้ทราบกัน โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้

“ซีเซียม-137” (Cs-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียมซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชั่น (fission products) เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น (nuclear fission) ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีเมื่อเกิดการรั่ว เช่น อุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากมี % Yield สูงกว่า fission products ตัวอื่นๆ ทำให้ซีเซียมกระจายอยู่ทั้งในดิน น้ำ และเข้าสู่วงจรอาหาร อาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผัก ผลไม้ นม อาหารทะเล และอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร นอกจากนี้ซีเซียม 137 เป็นสารกัมนัมตรังสี ที่มีลักษณะโลหะอ่อนมาก สีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับตลอไรด์ กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบต้าและแกรมม่าใช้ประโยชน์ในโรงงาน นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์รักษามะเร็ง

อันตรายจากสารเคมี ซีเซียม-137 ซึ่งแบ่งออกได้ 3 กลุ่มอาการ คือ ระบบผลิตเลือด  ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทกลาง 

ซีเซียม-137 เป็นอันตรายทางอาหาร(food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี(chemical hazard) สารซีเซียม-137 เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ และบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม หรือ เป็นสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตามความผิดปกติจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณรังสีและระยะเวลาที่ร่างกายได้รับ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554 เรื่องมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี กำหนดให้ “อาหารมีการปนเปื้อนซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) หรือ เบคเคอเรลต่อลิตร (Bq/l)”

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับสารในปริมาณมาก อาจเกิดอาการกับกดไขกระดูก(ระบบเลือด) และกลุ่มอาการทางเดินอาหารรวมทั้งระบบหัวใจหลอดเลือด หรือระบบประสาทด้วย

ระยะแรก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ซึ่งจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 2 วันหลังโดนรังสี อาการเป็นได้นานเป็นนาทีถึงหลายๆ วัน หากปล่อยเอาไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือด ทั้งหมดลดระดับลงเรื่อยๆ ในเวลาหลายๆสัปดาห์ และจะเสียชีวิตในเวลา 2-3 เดือน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเลือดออกมากและไม่สามารถหยุดได้

อย่างไรก็ตาม หากได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาเคมีโดยจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น