จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประสบกับปัญหาไฟป่าที่หนักหน่วงกว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือ พบมีการลอบจุดไฟเผาป่า สูงถึง 107 จุด ส่งผลให้ควันไฟป่าปกคลุมไปทั่วเมือง กระทบสุขภาพประชาชนอย่างหนัก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหยุดเผาป่า แต่ก็ไม่ได้ผลตามมุ่งหวังแต่อย่างใด

วันที่ 19 มี.ค.66 ศูนย์อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รายงานสรุปสถานการณ์ ไฟป่าของจังหวัด ว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2566 ดาวเทียมตรวจจุดความร้อน ในแม่ฮ่องสอน ได้จำนวน 107 จุด และมีจุดไฟป่าสูงที่สุดของภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน ในตัวจังหวัด ฯ  วัดได้ถึง 106 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-18 มีนาคม 2566 จำนวน 2,738 จุด สูงสุดที่อำเภอแม่สะเรียง จำนวน 708 จุด โดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 1,575 จุด และ คุณภาพอากาศประจำวันที่ 19 มีนาคม 2566 1.ค่า PM2.5 สถานีอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เท่ากับ 106 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับมีผลต่อสุขภาพ) 2.ค่า PM2.5 สถานีอำเภอแม่สะเรียง เท่ากับ 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลต่อสุขภาพ) และ 3.ค่า PM2.5 สถานีอำเภอปาย เท่ากับ 97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับมีผลต่อสุขภาพ)

นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าสำหรับการแก้ไขปัญหาไฟป่า ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เน้นย้ำไปทุกอำเภอ ให้ระดมกำลังทุกภาคส่วนในการป้องกัน ด้วยการดึงราษฎรในพื้นที่ ให้เข้ามาร่วมมือกับทางภาครัฐให้มากขึ้น และการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในการป้องกันการลอบเผาป่า โดยให้เห็นโทษของควันไฟป่าที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน รวมไปถึงการลดฝุ่นควันในอากาศด้วยการฉีดน้ำในจุดที่มีชุมชนหน้าแน่น รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ 

แต่อย่างไรก็ตาม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศที่เทือกเขาสลับซับซ้อน และสูงชัน มีไม่น้อยที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปดับไฟป่าได้ จึงส่งผลให้ไฟป่าลุกลามไหม้เชื้อเพลิงในป่าจนหมดไปเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดควันไฟป่าปกคลุมเต็มเมือง