วันนี้ (18 มีนาคม 2566) เวลา 08.30 น. ณ บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง นายรังสรรค์  ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2566 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก ณ ตำบลท่าฉลอม อันเป็นต้นกำเนิดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบต่างๆ ในปัจจุบัน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ปลัดจังหวัดอ่างทอง ผู้แทนรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอ่างทอง (ท.) ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง ร่วมพิธี

      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ศก 116 ขึ้น อันเป็นต้นแบบของการดำเนินงานสุขาภิบาล ครั้นเมื่อรัตนโกสินทร์ศก 123 พระองค์ได้เสด็จประพาสต้นผ่านมา ณ ตำบลท่าฉลอมครั้งหนึ่ง และตำบลมหาชัยอีกครั้งหนึ่ง ทรงเล็งเห็นถึงความพร้อมของตำบลท่าฉลอม ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีความเจริญมากกว่าชุมชนอื่นๆ ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลพระกรุณาฯ เสนอ จึงทรงตัดสินพระทัยประกาศจัดตั้ง “สุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม” ขึ้น เป็นสุขาภิบาลหัวเมืองนอกมณฑลกรุงเทพฯ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2448 (รัตนโกสินทร์ศก 124) ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะเปิดโอกาสแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ซึ่งจากผลการทดลองจัดตั้งสุขาภิบาลที่ท่าฉลอมแห่งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการที่สมุหเทศาภิบาลหลายแห่ง ขอนำไปใช้ในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

      นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้ทรงวางรากฐานการพัฒนาท้องถิ่น รูปแบบการปกครองตนเอง ให้มีความมั่นคงตราบจนถึงปัจจุบันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมีความเจริญมั่นคง โดยมีระบบการบริหารจัดการ มีการแก้ไขปัญหา และเป็นแกนหลักในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่ปวงชนชาวไทย ตราบจนถึงปัจจุบัน