รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร  นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ วิเคราะห์เรารู้อะไรบ้างจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

1. เราได้เห็นฉากใหม่ของสงครามสมัยใหม่ ซึ่งน้อยคนที่จะคาดเดาล่วงหน้าได้ถูก และทำให้เราเห็นได้ว่าประเทศส่วนใหญ่ ก็ไม่พร้อมที่จะรองรับหรือแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ รวมทั้งรัสเซียด้วยที่น่าจะประเมินสถานการณ์จริงต่ำเกินไป

2. โลกต้องเผชิญกับสงครามใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และเห็นได้ว่าแนวโน้มที่จะยุติลงได้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้นนั้น คงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะสงครามครั้งนี้ไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของมหาอำนาจที่กำลังแย่งชิงความเป็นจ้าว และผลประโยชน์ที่สำคัญของอีกหลายประเทศ นอกเหนือไปจากเรื่องชาตินิยมและความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง

3. ผู้อพยพหนีภัยการสู้รบที่ทะลักออกมาจากยูเครน (และรัสเซียด้วย) ไปยังประเทศต่างๆ มีจำนวนมากกว่าล้านคน มีผู้เสียชีวิตแล้วนับหมื่นราย บาดเจ็บหรือพิการอีกนับแสนคน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ต่อบ้านเมืองและต่อทรัพย์สินของประชาชน ทั้งหมดนี้ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลและยากที่จะทดแทนหรือฟื้นฟูได้ โดยเฉพาะความสูญเสียที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ เช่น ชีวิตของผู้คน หรือโอกาสต่างๆ ในการพัฒนาหากบ้านเมืองสงบสุข ที่สำคัญความสูญเสียทั้งหลายเหล่านี้หรือการทำลายกันนั้น เกิดขึ้นภายในเวลาอันสั้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

4. การบุกรุกและยึดครองยูเครน เป็นการทำผิดกติกาสากลและละเมิดกฏบัตรสหประชาชาติ ซึ่งทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศไทย ต้องลงมติคัดค้าน พร้อมทั้งประณามการกระทำดังกล่าว และบางประเทศก็ยังคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจหรือทางการเมืองเพิ่มด้วย สถานการณ์เช่นนี้ ก็คงดำรงอยู่ต่อไปอีกหลายปีจนกว่าสงครามจะยุติลง และถึงแม้ว่าสงครามยุติลงได้ ก็คงจะมีความพยายามของบางฝ่ายที่จะดำเนินการกับรัสเซียกับพวกที่ถูกมองว่าเป็นอาชญากรสงคราม ซึ่งก็คงทำให้ความขัดแย้งไม่ยุติลงทั้งหมด

5. ในโอกาสครบรอบ 1 ปีของสงคราม สหประชาชาติก็ได้มีมติยืนยันคัดค้านและประณามการกระทำของรัสเซียอีกครั้งด้วยเสียง 141 ต่อ 7 (งดออกเสียง 32 ประเทศ) ซึ่งในครั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้ลงมติสนับสนุนร่วมกับ 140 ประเทศด้วย ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนหลักการสำคัญในการเคารพบูรณภาพของดินแดนและการเคารพอธิปไตยของประเทศสมาชิก (แตกต่างจากครั้งที่สอง ไทยงดออกเสียง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของเราชี้แจงว่า เหตุเพราะเกี่ยวข้องกับการลงประชามติภายในประเทศ และจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดยไทยเห็นว่านานาชาติควรหันไปให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชาวยูเครนทางด้านมนุษยธรรมให้มากขึ้นมากกว่า ซึ่งการงดออกเสียงในครั้งนั้น ก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่าถูกต้องหรือไม่) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ประเทศเล็กๆ หรืออ่อนแอ จะให้ความสำคัญในเรื่องกติกาสากลหรือกฏบัตรสหประชาชาตินี้มาก เหตุเพราะกลัวประเทศใหญ่หรือที่มีกำลังทหารมากกว่าจะรุกรานหรือรังแก

6. สงครามที่เกิดขึ้นทำให้หลายประเทศต้องปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเมือง การทหาร การค้า การลงทุน รวมทั้งนโยบายด้านพลังงาน ด้านการเกษตร และอื่นๆ อีกหลายด้านอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น เยอรมัน อังกฤษ นอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น โดยมีลักษณะที่เป็นนโยบายเลือกข้างเลือกขั้วที่ชัดเจนขึ้น สนับสนุนสงครามหรือในทางการทหารอย่างแข็งขัน ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างที่ไม่เคยส่งให้ใครให้มาก่อน หรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นเพิ่มเติมจากมติของสหประชาชาติ 

หากการแบ่งขั้วเลือกข้างหรือการเผชิญหน้ากันในเวทีโลกแทบทุกเวทีอย่างที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาดำรงอยู่ต่อไปอีก เราอาจจะเห็นโลกแบ่งออกเป็นสองขั้วแบบเข้มข้นจริงๆ ก็ได้ นั่นก็หมายความว่าทางเลือกของหลายประเทศรวมทั้งของประเทศไทย ก็จะถูกจำกัดเพิ่มขึ้น และเสันทางสันติภาพของโลกก็จะแคบลงอีก

7. ทุกสงครามหรือความขัดแย้ง มีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์ ในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้ที่สูญเสียหรือเสียประโยชน์ คือ

1) ประชาชนชาวยูเครน นับได้ว่าเป็นผู้ที่สูญเสียหรือได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาพความสูญเสียเหล่านี้สะเทือนใจผู้คนทั่วโลก ทั้งที่อยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า โรงละคร  พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ก็ถูกทำลายย่อยยับ ยังไม่นับที่ตั้งทางการทหาร สนามบิน ท่าเรือ หรือสะพาน และเส้นทางคมนาคมขนส่ง หรือโครงสร้างและระบบที่สำคัญอีกจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองจึงแตกสาแหรกขาด เศรษฐกิจเสียหายร้ายแรง ผู้คนเสียขวัญและหวาดกลัว และถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลช่วยเหลือจากหลายประเทศ แต่ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวยูเครน รวมทั้งสภาพโดยทั่วไปของประเทศยูเครนเองโดยรวม ก็คงไม่สามารถกลับไปเช่นเดิมได้อีกแล้ว 

2) ประชาชนชาวยุโรป ซึ่งก็รวมทั้งชาวรัสเซียบางส่วนด้วย เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายประการจากสงคราม ทั้งเรื่องที่จะต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวจากการถูกรุกราน ทั้งเรื่องผลกระทบทางด้านความเป็นอยู่ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาอาหาร ราคาพลังงาน หรือราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งบางประเทศก็ยังต้องส่งอาวุธยุทโธปกรณ์หรือกำลังทหารไปช่วยสนับสนุนยูเครนในรูปแบบต่างๆ หรือรับภาระหนักในการดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนมาก

ความหวังของชาวโลกที่ว่าประเทศในยุโรปทั้งหมด จะยุติความขัดแย้งที่มีมานานเป็นร้อยๆ ปี ที่เคยก่อสงครามโลกไปแล้วถึงสองครั้ง ซึ่งสร้างความหายนะให้กับประชากรโลกทั่วทุกทวีป มีผู้คนล้มตายไปกว่า 60 ล้านคน และจะไม่ทำให้ปัญหาของตนเป็นปัญหาของชาวโลกอีกนั้น บัดนี้ได้หมดไปแทบสิ้นแล้ว

3) ประชาชนในทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศที่มีขีดความสามารถในการรองรับผลกระทบจากสงครามได้น้อย เช่น ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือยากจน ซึ่งจะอ่อนไหวต่อสถานการณ์สงครามหรือความขัดแย้งมากกว่าปกติ รวมทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมทั้งด้านพลังงานและอื่นๆ ได้ดีเท่าๆ กับประเทศที่ร่ำรวยหรือพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาเหล่านี้ ไม่สามารถอยู่ตามลำพังหรือเป็นอิสระโดยไม่ต้องเลือกขั้วเลือกข้างได้ บัดนี้ก็จำเป็นต้องเข้าพวกและกลับไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจหรือจ้าวอาณานิคมเดิมอีก

8. และในทุกสงครามและความขัดแย้ง ก็ยังมีผู้ที่ได้ประโยชน์หรือฝ่ายที่ได้เปรียบเสมอ ในกรณีนี้ก็คือ 

1) สหรัฐอเมริกา สงครามนี้ทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นผู้นำของชาติยุโรปตะวันตกที่มีเอกภาพมากขึ้น ภาพของความขัดแย้งระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับพันธมิตรของตนในสหภาพยุโรปหรือองค์การนาโต้ที่เคยเกิดขึ้นนั้น ได้หายไปภายในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย ยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นในการต่อสู้กับกลุ่มประเทศ “เผด็จการ” ทั้งนี้ ยังไม่นับที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยส่งไปขายทดแทนการนำเข้าจากรัสเซียในหลายประเทศ หรือรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ความชำนาญที่ได้จากการ (ช่วย) รบในสมรภูมิสมัยใหม่ หรือกำไรที่ได้จากการค้าและอื่นๆ กับอีกหลายประเทศที่จำเป็นต้องเลือกขั้วเลือกข้าง หรือทำให้การเมืองภายในที่เคยแตกแยกรุนแรง บรรเทาเบาบางลงได้ และโอกาสของพรรคเดโมเครตที่จะได้เปรียบในการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็มีมากขึ้นกว่าเดิม

2) จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศที่ค้าขายกับรัสเซียได้มากขึ้น ต่างก็ได้รับประโยชน์กันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนนั้น น่าจะพอใจกับการที่สหรัฐฯ ต้องวุ่นวายอยู่กับสงครามและการจัดการกับรัสเซีย แทนที่จะต้องพุ่งเป้ามายังตนแต่เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังสามารถช่วงชิงการนำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ด้วยการเสนอแผนการ 12 ประการที่จะยุติสงครามในโอกาสที่ครบรอบ 1 ปีของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจมาก แต่แนวโน้มที่จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับสหรัฐฯเป็นสำคัญ 

และเช่นเดียวกับจีน อินเดียก็ได้ประโยชน์จากการนำเข้าพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย และทำให้รัสเซียต้องพึ่งพาตนมากขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งนี้ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ประโยชน์ รวมทั้งไทยที่มีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเข้ามาจำนวนมากที่สุด และสามารถค้าขายได้กับรัสเซียได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และคาดกันว่าในอนาคตหากสามารถซื้อพลังงานราคาถูกหรืออื่นๆ จากรัสเซียได้มากขึ้น ก็จะดีกับคนไทยที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ

3) รัสเซีย ถึงแม้ว่าจะตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากและท้าทายมากในสมรภูมิรบกับยูเครนที่มีพันธมิตรตะวันตกสนับสนุนอย่างแข็งขัน อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และพันธมิตรในเวทีนานาชาติ รวมทั้งต้องแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวรัสเซียจำนวนมากเดือดร้อนก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าความพยายามในการกลับมายิ่งใหญ่ของ “จักรวรรดิรัสเซีย” โดยเฉพาะในสายตาของชาวรัสเซียชาตินิยมนั้น ได้ก้าวไปข้างหน้าในอีกระดับหนึ่งแล้ว คือยึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครนได้และสามารถสถาปนาเป็นพื้นที่กันชนกับตะวันตกที่จะมียูเครนเป็นสมาชิกนาโต้ในอนาคตได้ ลบภาพจักรวรรดิที่เคยล่มสลายหรือประเทศอ่อนแอลงได้ในอีกระดับหนึ่ง อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการค้าขายที่เพิ่มขึ้นกับหลายประเทศที่ฉวยประโยชน์หรือต้องเลือกข้างเลือกขั้วมาอยู่กับตนและพันธมิตร

การผลักดันให้รัสเซียคืนดินแดนทั้งหมดที่ยึดครองอยู่ ก็หมายความว่ายูเครน ยุโรปเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะสหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งระบบ จะต้องรวมตัวกันทำสงครามใหญ่กับรัสเซีย ซึ่งมีพันธมิตรคือจีนและอีกหลายประเทศที่ประกาศไปแล้วว่าจะช่วยรัสเซียรบ ดังนั้นในขณะนี้ ก็ยังไม่มีใครทางฝั่งตะวันตกที่พร้อมจะทำเช่นนั้น ยกเว้นยูเครน

9. สรุป ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เรารู้ในสิ่งที่ควรจะรู้น้อยมาก คือทำอย่างไรจะให้สงครามยุติได้โดยเร็วเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนทุกฝ่ายไว้ให้ได้มากที่สุด แต่เราก็รู้มากขึ้นในสิ่งที่รู้อยู่แล้ว คือ ทุกความขัดแย้งและสงคราม มีฝ่ายที่ได้ประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์เสมอ และในกรณีนี้ก็เช่นกัน ใครได้ใครเสียประโยชน์ ก็ปรากฎชัดเจนในรอบปีที่ผ่านมา

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Panitan Wattanayagorn