บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

มิติของวัฒนธรรมกับอารยะธรรมโบราณที่สืบต้นตอกำพืดไม่ง่าย

วัฒนธรรม (Culture) คือสิ่งที่ดีงามของมนุษยชาติ (Mankind, Human being) ที่เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของคนที่แตกต่างจากสัตว์ เป็นความเจริญงอกงามของสังคม ซึ่งแสดงออกได้ทั้งทางจิตใจและวัตถุ ฉะนั้น ทุกสังคมจึงมีเอกลักษณ์เป็นไปตามกลุ่มชน กลุ่มสังคม ที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม อารยธรรม (Civilization) หมายถึงความเจริญทางวัฒนธรรมของสังคมในทุกด้านที่ได้สั่งสมมา เป็นความเจริญขั้นสูงของมนุษย์ อารยธรรม (Civilization) จะเกิดขึ้นได้ต้องมีวัฒนธรรมก่อน ซึ่งเป็นคำเรียกขานได้แก่ อารยธรรมจีน อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมอิสลาม อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมกรีก อารยธรรมโรมัน

วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดียในด้านศาสนา อารยธรรมจีนไม่สามารถเจาะเข้ามาเต็มในวัฒนธรรมไทยได้ วัฒนธรรมจีนจึงเป็นเพียงวัฒนธรรมที่ต้องผสมกลมกลืนเข้ากันให้ได้กับสังคมไทย วัฒนธรรมเป็นกระแสที่ไหลเลื่อนไปสู่ชุมชนอื่นข้างเคียงได้ แต่อาจไม่มีพลังจนเป็นอารยธรรมก็ได้ ไม่ว่าจะจงใจ หรือการได้รู้เห็น แอบเห็น การเลียนแบบ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เพราะคำว่าวัฒนธรรมนั้นมีทั้งมิติที่ไม่มีตัวตนเพราะเป็นความคิดปรัชญา หรือ เป็นในมิติของวัตถุสิ่งของที่มีตัวตนก็ได้ เช่น หลักฐานการสลักหินบนกำแพง เทวาลัย กู่ ปราสาทขอม ถือเป็นวัฒนธรรมวัตถุรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นเทวาลัยประกอบพิธีกรรม ที่ประชุมราชการ ที่รักษาพยาบาล (อโรคยาศาล) ที่ต่อมาปราสาทขอมก็แปลงกลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สมัยโบราณมีการก่อสร้างเทวาลัยสืบต่อกันมาด้วยวิธี (1) การบังคับเกณฑ์แรงงาน ทาส ไพร่ โดยมูลนาย ผู้ปกครอง หรือ (2) การรวมตัวกันสร้างด้วยศรัทธาของชาวบ้านเองเหมือนการสร้างวัด สร้างศาลา การก่อเกิดการเกิดวัฒนธรรม คงไม่จำกัดแต่เฉพาะที่ปรากฏรูปแกะสลัก ตามกำแพงปราสาทหรืออื่นใดเท่านั้น

ฉะนั้น ในสังคมโลกบริเวณหนึ่งๆ จึงมีขอบข่ายทางวัฒนธรรมที่กว้างขวาง หรือแคบ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ บางวัฒนธรรมได้หยุดหรือตายไปแล้วก็มี โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งการ disrupt ยุคข่าวสารโซเชียลไร้พรมแดน (Borderless) การไหลบ่าของวัฒนธรรม จึงง่ายกว่า เช่น กระแสเพลง “Mineral Water” (มิเนอรัล วาตารา) ของคอนเสิร์ตอินเดียในเนปาล ที่แสดงให้เห็นความคลั่งไคล้ของวัยรุ่นหญิงชาวเนปาล ได้แพร่หลายมาประเทศไทยได้เห็นรับรู้กันอย่างง่ายดาย คลิปนี้กลายเป็นไวรัลที่มีคนดูคลิปจาก 12 ล้าน เป็น 34.7 ล้านวิวในเวลารวดเร็วเพียงไม่ถึงเดือน

หากจะไปสืบหาว่าต้นตอของวัฒนธรรมเดิมๆ ที่มีมานานแล้วนับพันปี ว่าใครเป็นต้นคิด เป็นของชนเชื้อชาติใดชาติพันธุ์ใด (Indigenous) อาจยุ่งยาก หรือสรุปสืบค้นหายาก โดยเฉพาะในกลุ่มชนที่มีรากเหง้าเดียวกัน มีการผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมและทางเชื้อชาติ (Assimilation) มาอย่างยาวนาน ย่อมเกิดการผสมผสานกันง่ายมากขึ้น เพราะมีการแลกเปลี่ยนเผยแพร่การรับรู้ การเลียนแบบกันได้ง่ายขึ้น

กีฬาใหม่ตะกร้อ ผสมเทเบิลเทนนิส ไทยได้แชมป์

ยกตัวอย่างการผสมกันปนเปในกีฬา “เซปัคตะกร้อ” ที่ถือเป็นกีฬาพื้นเมืองพื้นบ้านที่ทำจากหวายนำมาถักเป็นลูกกลมๆ ใช้เตะเล่นกันของคนเอเชียในย่านสุวรรณภูมิ หรืออาเซียน มีการอ้างความเป็นเจ้าของต้นตำรับกีฬาประเภทนี้กันจากหลายชาติทั้งไทย พม่า (เมียนมา) และ มาเลเซีย ซึ่งในที่สุดกลายเป็น “Sepak Takraw” ที่การเป็นกีฬาสากลในที่สุด แต่กีฬาใหม่ชื่อ “เทคบอล” (Teqball) เป็นกีฬาลูกผสมระหว่างเซปักตะกร้อ เทเบิลเทนนิส (ปิงปอง) และฟุตบอล เข้าด้วยกัน เทคบอลใช้ลูกบอลเล่นบนโต๊ะทรงโค้งพิเศษ ผู้เล่นใช้ร่างกายได้ทุกส่วน ยกเว้นแขนและมือ ส่งลูกฟุตบอลข้ามโต๊ะกันไปมาไม่ว่าจะด้วยวิธีใด อาจเล่นสองคนในการแข่งขันเดี่ยว หรือเล่นสี่คนในการแข่งขันคู่ โดยสหพันธ์เทคบอลนานาชาติ (International Federation of Teqball : FITEQ) นำกีฬานี้เข้าสู่ระดับนานาชาติ มีนักฟุตบอลระดับโลกหลายคนให้ความสนใจ กีฬานี้ได้รับการบรรจุแข่งขันในเอเชียนบีชเกมส์ 2023 และยูโรเปียนเกมส์ 2023 และจะให้กีฬานี้เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิก ด้วยทักษะแชมป์เซปักตะกร้อของนักกีฬาไทย ทำให้ไทยได้แชมป์เทคบอลด้วยท่าไม้ตายตีลังกาฟาดทำแต้มชนะทีมบราซิลที่เก่งฟุตบอลได้ไม่ยาก เป็นผลจาก Soft Power ของคนไทยที่ซึมซาบกีฬาตะกร้อเฉพาะตัวมายาวนาน

กุนขแมร์เคลมเกทับมวยไทยหรือไม่

 เอาเข้าแล้ว “กุนขแมร์” (มวยเขมร) จากเพื่อนบ้านที่วิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะ “กัมพูชา” ได้บรรจุกีฬามวยนี้ในการแข่งขันซีเกมส์ 2023 ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 เคลมว่า กุนขแมร์เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีตัวตนจริง เป็น “โบ๊ะกะโต” (โบกาตอร์) สมบัติประจำชาติของกัมพูชา เป็นรากฐานเป็นต้นตำรับต้นกำเนิดผู้ริเริ่มศิลปะป้องกันตัวของ “มวยไทย” โดยอ้างหลักภาพจารึกจากปราสาทนครวัด ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12 หรืออายุราว 1,400 ปี สมัยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 กษัตริย์จากลัทธิฮินดูไศเลนทร์ จากเกาะชวาแผ่มายังกัมพูชา เป็นทั้งบูชาเทพเจ้า ราหู ยมทูต ฯลฯ ผี ไสยศาสตร์ เป็นลัทธิที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ เป็นเทวราชหรือเป็นเทพเจ้า ว่ากันว่า “มวยไทยและมวยพม่า” ก็แบบเดียวกัน มีการอ้างว่าลอกเลียนแบบกันหรือไม่ จากประวัติศาสตร์คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์การชกมวยของเชลยไทยกับนักมวยพม่า ซึ่งมวยพม่าก็ได้อ้างเท้าความประวัติศาสตร์ไปถึงกว่า 1,000 ปีเช่นกัน ฉะนั้น “มวย” จึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต่างมีร่วมกันของเหล่าชาติในภูมิภาคนี้ คงมิได้มีการลอกเลียนแบบกัน เป็นกระแสชาตินิยม ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างความรักชาติ รักเผ่าพันธุ์ นายกฯฮุนเซนจึงปลุกระดม ความเป็นรัฐชาติเขมรอย่างเข้มข้น เพื่อให้ชาติเขมรเป็นหนึ่งเดียว เป็นลักษณะของสังคมแบบที่ไม่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายกันใกล้เคียงกัน (Homogeneous) เช่นไทย ที่มีแต่การประสานประโยชน์ การประนีประนอมกันในทุกกลุ่ม มีการผสมกลมกลืนกันด้วยดี ไม่ได้เป็นสังคมแบบพหุ (Multiculturalism or Cultural diversity) ที่มีแต่ความแตกต่างในวัฒนธรรม ในด้านเชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ต่างๆ

ในบรรดาศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านถือเป็น soft power ประการหนึ่ง กีฬาการต่อสู้บุคคล หรือศิลปะการต่อสู้มือเปล่า เช่น “กีฬามวย” หรือ “ชกมวย” หรือ มาร์เชียลอาร์ท หรือ มวยปล้ำ หรือยูโด รวมทั้ง คาราเต้ ยิวยิตสู เทควันโด กังฟู ไท่เก๊ก (Tai chi) ล้วนมีลีลา ทักษะ กติกาที่แตกต่างกันไปในแต่ละชาติ ยกเว้นที่มีการบรรจุรับไว้เป็นกีฬาสากลในกีฬานานาชาติ หรือ กีฬาโอลิมปิค โดยใช้ “กติกาสากล” ร่วมกันทุกชาติ

เป็นศิลปะการต่อสู้ที่คนในพื้นถิ่นภูมิใจเช่น “แม่ไม้มวยไทย” ที่โด่งดังไปไกลถึงระดับโลก บรรดานักชกฝรั่งต่างชาติต่างมาท่องเที่ยวและมาฝึกฝนมวยไทยกันเป็นจำนวนมาก “มวย” ก็ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของเหล่าชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ต่างจาก “เซปักตะกร้อ” แม้ในย่านภูมิภาคสุวรรณภูมิจะมีทักษะมวยที่หลากหลายตำรา ทั้งมวยไทย มวยพม่า (Lethwei : เล็ทเหว่ย, และเหว่) ซึ่งเมียนมาอ้างประวัติศาสตร์ย้อนไปได้ไกลถึงราวพันปี ระยะหลังมวยพม่าพยายามปรับตัวเองเพื่อเข้าสู่กีฬาสากล หรือ มวยเขมร (กุนขแมร์) รวมไปถึงทักษะมวยที่ออกแนวศิลปะท่ารำศิลปะการต่อสู้ คือ ปัญจักสีลัต (Pencak silat) ตบมะผาบฟ้อนเจิง (ท่ารำมวยของคนล้านนา) หรือแม้แต่มวยไทยเองก็มีตำรามวยไชยา มวยโคราช เป็นต้น

แม้ว่าแต่ก่อนมวยไทยจะถูกสบปรามาสว่า ไม่เป็นศิลปะ มีแต่ความหนักหน่วงโหดร้ายเท่านั้น ผลการจากเป็น Soft Power นี้ของมวยไทย ทำให้มีค่ายมวย อาจารย์ครูมวยไทยแพร่ไปยังยุโรปและอเมริกาจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับของต่างชาติว่าเป็นศิลปะการต่อสู้สากล เพราะมิใช่เพียงการฝึกฝนกันเฉยๆ หากแต่มีการอ้างอิงตำราโบราณที่มีการบันทึกไว้ในสมุดข่อย หรือตำราปั๊ปสา (สมุดกระดาษสาของชาวล้านนา) หรือได้มีการฝึกฝนถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่สามารถสืบสายเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ จากเอกสารโบราณได้

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติชอบมาไทย เพราะไทยมีศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่หลากหลาย อาหารมากมายก็อร่อย “สายมู” ก็มีที่ให้เลือกมากมาย ทั้งที่ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมโบราณที่หลากหลายเต็มไปหมดทุกพื้นที่ ไทยจึงมีธรรมชาติที่แสนดี ศิลปวัฒนธรรมที่แสนงาม มีวิถีชีวิตที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย เป็นประเทศน่าเที่ยวที่สุดของคนทั้งโลก

วัฒนธรรม Soft Power เคลมกันได้ด้วยหรือ

ข่าวการวิพากษ์กรณี “กุนขแมร์” (มวยเขมร) เคลมตีครอบวัฒนธรรมไทย อ้างเป็นต้นกำเนิด เป็นต้นตำรับ ใน Soft Power มวยไทยว่าเป็นต้นแบบเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่ใครจะลอกเอาไปใช้ไม่ได้ เป็นสมบัติเฉพาะชาติตนเองไม่ได้ ถือว่าเป็นการแอบอ้าง, ตีขลุม, ครอบงำ, เทกโอเวอร์ ว่าเป็นเจ้าของ ได้หรือไม่

ลองมาย้อนศึกษาจากประวัติศาสตร์ปากที่เล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่จดจำสืบต่อกันมา จากปากต่อปาก ผ่านคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ผ่านยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่งต่อๆ กันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวและความเห็นของผู้เล่าเหตุการณ์ ที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” (Oral History) เช่น หมอลำ(อีสาน) ค่าวซอ (ล้านนา) รำตัด (ภาคกลาง) เพลงบอก (ภาคใต้) มาดูคำเรียกชื่อกลุ่มคน แต่เดิมคนไทยไม่ได้เรียกชื่อตนเองว่าคน “สยาม” แต่มักเรียกตนเองว่า “ไต” หรือ “ไท” ทั้งในกลุ่มคนเชื้อสาย “ไทน้อย” และ “ไทใหญ่” และอาจมีชื่อเมือง หรือชื่อเฉพาะตามท้าย เช่น ไตลื้อ ไตเขิน (ไตขึน) ผู้ไท ไทดำ ไทขาว ไทแดง คนล้านนา (คนเหนือ) เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ในจารึกเขียนว่า “ไทเมือง” เพื่อแยกให้ออกว่าเป็นคนเมืองหรือ “คนดอย” เพราะพื้นที่ภาคเหนือจะมีกลุ่มชนที่อยู่คนภูเขาเรียกคนดอย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ (9 เผ่า) ส่วนคนลาว และคนอีสาน ก็ไม่เรียกตัวเองว่าลาว สมัยโบราณคนลาวก็เรียกตัวเองว่า “ไท” (อ้างจากจิตร ภูมิศักดิ์) คนลาวมีเชื้อสาย สายสัมพันธ์กับคนล้านนามาแต่โบราณ และคนลาวมีสายสัมพันธ์กับคนอีสานที่แยกกันไม่ออก คำว่า “เลา” (ออกเสียงคล้ายลาว) ที่เรียกกันนั้น จะใช้แทนสรรพนามบุคคลที่สามหมายถึง “ท่าน” ว่าเป็นพวกเดียวกัน จากการตรวจสอบคำเรียกชื่อที่คนต่างชาติเรียกคนไทยนั้น ทำให้ทราบว่า คนเขมรเรียกคนไทยว่า “เซียม” หรือ “ซีม” ปัจจุบันก็ยังเรียกคำนี้อยู่ ซึ่งก็คือคำว่า “เสียม” ในจารึก ส่วนคำว่า “ขอม” ใช้เรียกอักขระโบราณ “เขมร” เรียกชาวกัมพูชา “กัมพูชา” เรียกชื่อประเทศ ปัจจุบันก็ยังใช้คำเรียกนี้อยู่ ยังเป็นถ้อยคำศัพท์ที่จำกัดความหมายเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่วงชาวบ้านคนไทย ที่นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ขอมกับสยามคือคนเดียวกัน

คำว่า พระนคร, นครวัด, เสียมราฐ (เสียมเรียบ), เสียมล้อ เป็นคำเรียกชื่อเมืองเสียมราฐในประเทศกัมพูชา ที่ยังอยู่ในปัจจุบัน ย้อนอดีตเดิมนั้นประเทศกัมพูชาเป็นประเทศราชของไทยมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา นานร่วมกว่า 600 ปี และในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยเพิ่งเสียดินแดนมณฑลบูรพา (พระตะบอง,เสียมราฐ,ศรีโสภณ) ในส่วนของนครวัด (คือเมืองเสียมราฐ หรือ เสียมเรียบ : Siem Reap) ให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2449 นี่เอง

คำว่า ชนชาติ, ชนเผ่า, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, อาณาจักร, ประเทศ, ราชอาณาจักร, สัญชาติ, เขตแดน, เขตพื้นที่ปกครอง, เมือง เป็นกลุ่มคำที่นำมาใช้จำแนกแยกแยะกลุ่มคนในแต่ละพื้นที่ให้ละเอียดเฉพาะยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้ผ่านความเห็นชอบจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง 38 กลุ่ม และเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วในปี 2557 ตาม “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง” (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) รับรอง “ชาติพันธุ์” (Indigenous) ยอมรับในศักดิ์ศรี ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่จะไม่ถูกด้อยค่า เอาเปรียบ เลือกปฏิบัติ (Discrimination) ยึดความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ ต่อต้านการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) “มรดกทางวัฒนธรรม” (Cultural Heritage) เป็นวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอด ทั้งที่จับต้องไม่ได้ และที่จับต้องได้ (Intangible& Tangible) จะได้รับการบรรจุ “ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” (World Heritage List) ทั้งแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เหมือนการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรเพื่อแสดงเอกลักษณ์ตัวตนและเจ้าของ

นอกจากนี้ ในทางการเมืองที่มีการแบ่งเป็นรัฐแบบ “รัฐชาติ” (Nation State) ที่หมายถึงการก่อกำเนิดเป็นรัฐสมัยใหม่หลังจากยุคล่าอาณานิยม ทำให้ประเทศ (รัฐชาติ) ต่างๆ ต่างมีอำนาจเป็นรัฐอิสระกันทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงการท่องเทียวก็ยังมีอยู่ทั่วโลก คนต่างชาติต่างด้าวจึงเคลื่อนย้ายอพยพถิ่น โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงาน (Migrant) หรือการอพยพหนีภัยต่างๆ เป็นผู้ลี้ภัย (Refugee) มีอยู่ทั่วโลก ความแตกต่างทางสังคมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงาน ทำให้คนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านไปขายแรงงานในประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีกว่า เป็น “แรงงานต่างด้าว” เช่น แรงงานต่างด้าวสี่สัญชาติในไทย (CLMV) ผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่หนีความยากจน ผู้อพยพชาวอุยกูร์ที่หนีภัยการเมือง หรือ คนไทย (ผีน้อย)ไปขายแรงงานที่เกาหลี ซึ่งเป็นปัญหาเรื่อง “การจดทะเบียนรับรองคนในชาติ” ( Registration) และหรือการให้สัญชาติ (Nationality or Citizenship) ที่มีข้อจำกัดในแต่ละชาติที่ต่างกัน เช่น มีการถอนข้อสงวน(Reservations) ข้อ 7 ของอนุสัญญาสิทธิเด็ก เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า การดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน ในเรื่องอาหาร การกิน การแต่งกาย ศิลปิน มวย ประเพณี จำเป็นต้องมีต้นกำเนิดด้วยหรือ เพราะสิ่งเหล่านี้หากเจริญงอกงามก็เป็นวัฒนธรรม แต่อาจไม่มีพลังสูงจนเป็นอารยธรรมเท่านั้น เพราะมันเกิดเอง หรือแลกเปลี่ยน ประยุกต์ ผสมผเสกันไปมาได้ ยกตัวอย่างเรื่องอาวุธ ในสมัยก่อนอาวุธคือ ดาบ หอก แต่เมื่อมีการคิดค้นปืนไฟได้ อาวุธของทหารจึงเปลี่ยนเป็น “ปืน” ทั้งหมดทั่วโลกเหมือนกันหมด ยกเว้นคนป่าที่ยังเป็นชนเผ่าด้อยเจริญ ถือเป็นอารยธรรมของอาวุธปืน เป็นต้น แต่มวยเป็นศิลปะในแต่ละย่าน มีลักษณะเฉพาะไปในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้จะอ้างต้นตอแหล่งกำเนิด อ้างรูปแกะสลักโบราณ เป็นตำราบทเรียน ว่าได้พัฒนาสืบทอดต่อๆ กันมา ก็ต้องมีการพัฒนาลักษณะเฉพาะของตนเอง ไม่มีสูตรลับพิเศษ หรือสูตรเฉพาะที่เหมือนกัน กีฬามวยอาศัยทักษะการฝึกฝนเฉพาะตัว ในความได้เปรียบเชิงพละกำลังกายภาพประกอบ อาจจดจำกันมา แล้วมาฝึกฝน หรือคิดสูตรขึ้นมาเองเป็น “นวัตกรรม” (Innovation) ของตนเองก็ได้

วัฒนธรรมการสลักหินทับหลังปราสาทขอม ในประเทศไทยถูกขโมยโจรกรรมจากปราสาทไปปรากฏในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการสืบสาวโบราณวัตถุดังกล่าวพบ ก็มีการทวงคืนเพราะเป็นสมบัติของชาติ มิอาจคืนให้แก่เจ้าของอารยธรรมที่ได้ตายหรือสูญพันธุ์ไม่ปรากฏแล้วไม่ เช่นชนชาติขอม (ที่อ้างเป็นเขมรโบราณ) ทับหลังที่ถูกขโมยไป ทับหลังปราสาทกู่สวนแตง (อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์) คืนปี 2513 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ปราสาทพนมรุ้ง (เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์) คืนปี 2531 ทับหลังพระยมทรงกระบือปราสาทหนองหงส์ (อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์) ทับหลังพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาลปราสาทเขาโล้น (อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว) 2 รายหลังนี้เพิ่งทวงคืนสำเร็จเมื่อปี 2564 ซึ่งต่างจากกรณีที่ศาลโลกตัดสินปี 2505 ยึดชาติพันธุ์ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสมบัติของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว 7 ต่อ 5

ว่าเรื่องโบราณวกมาหา “สิทธิ” (Rights) ยาวๆ เขียนให้อ่านกันเล่นๆ เผื่อจะซึมซาบเรื่องวัฒนธรรมโบราณขอม เขมร กับไทยกันบ้าง