วันที่ 17  มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 72,460 คน ตายเพิ่ม 273 คน รวมแล้วติดไป 681,844,024 คน เสียชีวิตรวม 6,813,727 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.9 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 86.11

...อัพเดตความรู้โควิด-19

1. WHO ปรับระบบติดตามไวรัสโควิด-19

เนื่องจากไวรัสโควิด-19 นั้นมีการระบาดมาหลายปี โดยไวรัสสายพันธุ์เดิมๆ ทยอยหายไป และ Omicron เป็นสายพันธุ์หลักที่ครองการระบาดทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2022 จนถึงปัจจุบัน และแตกหน่อต่อยอดเกิดสายพันธุ์ย่อยจำนวนมาก

ดังนั้น WHO จึงปรับระบบการติดตามไวรัสโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลสายพันธุ์ Omicron เป็นฐานพันธุกรรมหลักในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส

ทั้งนี้ในปัจจุบัน XBB.1.5 ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยที่จัดเป็น Variant of Interest ที่ให้ความสนใจติดตามเป็นพิเศษ

2. นกเขาไม่ขันหลังติดโควิด-19

Hebert KJ และคณะจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาวิจัยติดตามประชากรกว่า 42,000 คน ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 พบว่า กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหานกเขาไม่ขัน (erectile dysfunction) สูงกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อที่เพศและวัยเดียวกันราว 27%

3. คนที่ติดเชื้อแล้วมีปัญหาด้านดมกลิ่น มีราว 5% ที่อาการคงค้างนานถึง 3 ปี

Li J และคณะจากประเทศจีน ติดตามศึกษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วเป็น Long COVID โดยมีอาการผิดปกติของการดมกลิ่น จำนวน 155 คน พบว่าส่วนใหญ่แล้วจะหายเป็นปกติได้ แต่มีราว 5% ที่ยังคงมีอาการผิดปกติอยู่แม้เวลาผ่านไปถึง 3 ปี

4. Omicron ทำให้เด็กมีอาการป่วยหลายอาการได้บ่อยกว่า Alpha และ Delta

Summer MW และคณะจากประเทศแคนาดา ทำการศึกษาอาการป่วยในเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ (ดังรูป)

โดยมีประชากรวัยเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 1,440 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 และมารับบริการที่แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลจำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่สิงหาคม 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2565

พบว่าเด็กที่ติดเชื้อ Omicron นั้นมีอัตราการป่วยด้วยอาการไข้ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และอาการเชิงระบบ (systemic symptoms) มากกว่าสายพันธุ์ Alpha และ Delta

อย่างไรก็ตามสัดส่วนของผู้ป่วยเด็กที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและในไอซียูของแต่ละสายพันธุ์นั้นไม่ได้แตกต่างกัน

...สำหรับไทยเรา

ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

ปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศให้ดี

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

1. Statement on the update of WHO’s working definitions and tracking system for SARS-CoV-2 variants of concern and variants of interest. WHO. 16 March 2023.

2. Prior COVID-19 infection associated with increased risk of newly diagnosed erectile dysfunction. International Journal of Impotence Research. 15 March 2023.

3. Persisting Olfactory Impairments in Recovered COVID-19 Patient: A Three-Year Follow-Up. SSRN (Preprint with The Lancet). 16 March 2023.

4. Comparison of Symptoms Associated With SARS-CoV-2 Variants Among Children in Canada. JAMA Network Open. 9 March 2023.