รายงาน : มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ฯ เปิดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยด้วยกิจกรรมเสวนาและสาธิตโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
ที่โรงละคร สถาบันคึกฤทธิ์ โดยหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ด้วยกิจกรรมการเสวนาและสาธิต “โนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” มีวิทยากรเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล วิทยากรด้านมรดกที่มีชีวิตขององค์การยูเนสโก กล่าวว่า “หลังจากที่ยูเนสโกมีมติให้โนรา นาฏศิลป์ของไทยได้รับการบรรจุอยู่ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โนรามีความเข้มแข็งมาก เดิมทีโนรามีการสืบทอดในวงกว้าง เนื่องจากโนรามีความยืดหยุ่น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือโนรา ไม่ใช่แค่ศิลปะพื้นบ้านแต่ยังเป็นพิธีกรรมที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น จึงทำให้ตัวโนราเองสามารถรักษาดุลยภาพระหว่างจารีตประเพณี กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยใหม่ได้”
ด้าน ศ.พรรัตน์ ดำรุง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงและศิลปะพื้นบ้านไทย กล่าวเสริมว่า “การได้รับการยอมรับจากยูเนสโกถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ เราจะสืบสานและสืบทอดต่อไปอย่างไร ที่ผ่านมามันแสดงให้เห็นว่าเราดูแลศิลปะที่อยู่ในเนื้อในตัวของศิลปินที่เป็นชาวบ้านได้ดี ถึงปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนมาเป็นทางการเรียนการสอนให้เข้าถึงได้ในวงกว้าง เราก็ทำได้ดี ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือทำอย่างไรให้สิ่งนี้มันดีขึ้นกว่าเดิม หรือมันน่าจะเป็นที่ยอมรับ เมื่อคนรู้จักโนราดีขึ้นแล้ว ทำอย่างไรให้รู้สึกภาคภูมิใจในภูมิความรู้ภูมิปัญญานี้ แล้วมองเห็นว่ามันยังมีค่าในชีวิต โนราไม่ใช่ศิลปะเฉพาะร้องรำ โนรายังมีรากเง้าที่ควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และถูกต้องตามขนบของโนรา”
ทางด้าน ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 สาขาศิลปะการแสดงโนรา เปิดใจในฐานะคนที่เป็นครูโนรา “พวกเราในฐานะศิลปินโนราทุกคนก็มีความภาคภูมิใจที่โนราของเราได้รับการยอมรับและสนับสนุนมากขึ้นจากหน่วยงานต่างๆ ของไทย มีการขับเคลื่อนบทบาทการสืบทอดโนรา จะเห็นได้ว่าต่างคนต่างช่วยและต่างร่วมมือกัน และที่เห็นเป็นนิมิตรหมายเรื่องดีคือ ตัวศิลปินโนรารุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะมากทำให้วงการโนราคึกคัก สิ่งที่ผมอยากฝากไว้ถึงโนรารุ่นใหม่ คือโนราปัจจุบันควรหาองค์ความรู้เรื่องของโนราให้มากที่สุด อย่างไม่ให้ผิดเพี้ยนหรือเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิม ถ้าจะประยุกต์ก็ประยุกต์อยู่ในกรอบ ส่วนศิลปินโนราที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์และรักษารูปแบบของโนราให้เข้มแข็ง ชัดเจน เป็นต้นแบบให้เลียนแบบได้ พวกเราถึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ในศิลปะโนราได้”
หลังจบการเสวนา ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ยังได้สาธิตการร่ายรำโนราอย่างอ่อนช้อยสวยงามสมกับเจ้าของฉายา “ดำรงค์ศิลป์” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ดำรงค์รักษาท่ารำ พร้อมเสียงร้องสำเนียงโนราดั้งเดิม ที่สะกดทุกสายตาคนดู