ใครจะไปนึกว่าสหกรณ์ที่มีแต่หนี้เสียกับหนี้ค้างจ่าย ไม่เคยมีรายได้เข้ามา แต่หลังจาก "สุทิน ปันคำ" เข้ามารั้งตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ กลับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ สหกรณ์ไม่มีหนี้เสีย สมาชิกก็ไม่มีหนี้ค้างจ่าย สหกรณ์ก็มีรายได้มีกำไรเติบโตขึ้นทุกปีสำหรับ "สหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด" ในต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

กว่า 20 ปีในการบริหารจัดการของเขา ภายในการกำกับดูแลของคณะกรรมการสหกรณ์ฯ โดยการสนับสนุนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง กรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้วันนี้สหกรณ์ที่มีสมาชิกเกือบ 2,000 ราย สามารถลืมตาอ้าปากได้

นายสุทิน ปันดี ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด เผยว่า สหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ใช้น้ำจากฝายเพื่อปลูกพืช มีเพียงธุรกิจบริการเพียงอย่างเดียว ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่การดูแลเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เพิ่มธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด กล้วย พริก ปาล์มน้ำมัน เพื่อช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมอาชีพการปลูกข้าวโพดอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นบนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ใช้เป็นโครงการนำร่อง 

“ต้องยอมรับว่าสหกรณ์แต่ละที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินคล้าย ๆ กันคือทำธุรกิจสินเชื่อปล่อยเงินกู้มีรายได้มาจากดอกเบี้ย แต่เมื่อเขาไม่มีรายได้เข้ามาตามทวงหนี้ยังไงเขาก็ไม่มีจ่าย ก็เลยนำปัญหานี้มาปรึกษากับทางคณะกรรมการสหกรณ์ว่า สหกรณ์จะมาดำเนินธุรกิจสินเชื่อเป็นหลัก เน้นรายได้จากธุรกิจสินเชื่อไม่ได้แล้ว   วันนี้เราต้องหาอะไรที่ทำให้สมาชิกมีความมั่นใจและศรัทธากับสหกรณ์โดยที่เราต้องให้เงินสมาชิกกลับไปบ้าง ไม่ใช่เอาเงินจากสมาชิกมาอย่างเดียวในเรื่องธุรกิจสินเชื่อ”นายสุทิน เผย 

ก่อนลงมือดำเนินการทันทีหลังได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการฯ โดยเริ่มจากสหกรณ์เป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์การผลิตทุกอย่าง ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาค่าเมล็ดพันธุ์ให้กับสมาชิกที่รวมกลุ่มปลูกพืชตามความถนัด โดยใช้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เริ่มต้นจากพื้นที่ปลูก 60 ไร่ เมื่อปี 2545 จนวันนี้ได้ขยายพื้นที่ปลูกกว่า 4,000 ไร่ ใน 3 ชนิด พืชหลัก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเหนียวสันป่าตองและมันสำปะหลัง

โดยเบื้องต้นคัดเลือกเฉพาะสมาชิกที่มีหนี้ค้างนาน 5-10 ปี จากนั้นก็มาคัดอีกรอบเฟ้นหาเกษตรกรที่หัวไว ใจสู้เป็นการนำร่อง เริ่มจากรายละ 1-2 ไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสหกรณ์เป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมดทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 2,000 บาท พร้อมรับซื้อผลผลิตคืนในราคาประกัน ปรากฏว่าผลผลิตออกมาดีมาก ขณะที่ราคาข้าวโพดก็ดีด้วยในห้วงเวลานั้น

“ตอนนั้นข้าวโพดกิโลละ 7 บาท หลังหักหนี้ไร่ละ 2 พัน เขาก็ยังเหลือเงินเป็นหมื่น บางรายมีหนี้ค้างหมื่นสองพร้อมดอกเบี้ย เราบอกหักดอกเบี้ยค้าง 2 พันก่อนนะ ส่วนเงินต้นรอบต่อไปค่อยหัก จากนั้นก้าวกระโดดจาก 60 ไร่เป็น 100 ไร่ในปีต่อมา ในปัจจุบันมีประมาณ 4-5 พันไร่”ผู้จัดการสหกรณ์ฯคนเดิมแนะวิธีแก้หนี้สมาชิก

สำหรับมูลค่ารับซื้อผลผลิตรวม ปี 2565 ล่าสุด เกือบ 200 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 70 ล้านบาท ข้าวเหนียวสันป่าตอง 20 ล้านบาท และพืชอื่นๆ อีก 100 กว่าล้านบาท อาทิ มันสำปะหลัง กล้วยหอมทอง ถั่ว ฯลฯ  โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต มีการวางแผนการปลูกร่วมกันระหว่างสหกรณ์ เกษตรกรสมาชิกและตัวแทนผู้ประกอบการเอกชนที่เข้ามารับซื้อผลผลิตในทุกๆ ไตรมาสหรือรอบการผลิตพืชนั้นๆ 

“เราไม่ให้เกษตรกรปลูกแบบหาตลาดเอง จะปลูกอะไรไปคุยกับบริษัทก่อนแล้วมาจัดประชุมอบรมตามเงื่อนไขตามขั้นตอน เกษตรกรจะต้องเข้าร่วมประชุมทุกรอบของพืชนั้นๆ ปีที่แล้วสหกรณ์ได้กำไร 3 ล้านกว่าบาท ซึ่งเราจะไม่ค่อยเน้นตรงนี้มาก อย่างน้อยเราให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีมีรายได้ที่แน่นอน นั่นเป็นสิ่งที่สหกรณ์พอใจแล้ว ส่วนกำไรเพื่อปันผลให้กับสมาชิกสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกมากกว่า ตอนนี้สมาชิกที่เคยมีหนี้ค้างชำระยาวๆ หลายปีไม่มีแล้ว สมาชิกนำเงินมาชำระหนี้คืนสหกรณ์หมดแล้ว เหลือแต่เงินกู้ตามปกติ ดอกเบี้ยค้างก็ไม่มีแล้ว” นายสุทิน ปันดี ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด กล่าว และขอบคุณกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ให้การ สนับสนุนงบประมาณผ่านทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง ในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ทั้งรถตักลานตาก และยุ้งฉางเก็บผลผลิต ทำให้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสมาชิกได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนางจารุณี เปล่งใส สมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด ที่อาศัยอยู่ใน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง กล่าวยอมรับว่า สามารถลืมตาปากได้ในวันนี้ เพราะสหกรณ์ฯให้โอกาส จนสามารถปลดหนี้สหกรณ์กว่า 3 หมื่นได้หมดนับตั้งแต่ผู้จัดการสุทิน ปันคำเข้ามารับตำแหน่ง  ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 8 ไร่ สลับกับการปลูกข้าวเหนียวสันป่าตองและปลูกมันสำปะหลังอีก 7 ไร่ 

“มันสำปะหลังเก็บไปหมดแล้วเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ปีนี้ได้มา 3 แสนกว่าบาทหักค่าปุ๋ยค่ายาที่เอามาจากสหกรณ์ไป 3 หมื่นกว่าบาท เหลือกำไรอีก 2 แสนกว่า ส่วนข้าวโพดจะเก็บปลายเดือนนี้ เสร็จจากข้าวโพดก็จะปลูกข้าวต่อเลย”สมาชิกสหกรณ์คนเดิม กล่าวย้ำ