ประโยชน์ของสมุนไพร แต่ละชนิดมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน ทั้งอาจช่วยรักษาโรค บรรเทาอาการ หรือใช้สำหรับบำรุงร่างกาย แต่ในบางชนิด ก็เป็นดาบสองคม ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน

โดยคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นิยาม “สมุนไพร” มีหมายความว่า เป็นยาที่ได้มาจากพืช สัตว์ แร่ธาตุจากธรรมชาติที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างภายใน สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ และบำรุงร่างกายได้ ประเภทของสมุนไพร สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา เช่น เกลือ กำมะถัน น้ำประสานทอง ดีเกลือ สารส้ม

สมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน ทั้งอาจช่วยรักษาโรค บรรเทาอาการ หรือใช้สำหรับบำรุงร่างกาย สมุนไพรที่นิยมใช้ในครัวเรือน อาทิ

ขมิ้นชัน เป็นเครื่องเทศที่เป็นแหล่งของเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และการรับประทานขมิ้นอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

พริกแห้ง พริกสด พริกป่น เป็นแหล่งแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น และอาจช่วยลดไขมันหน้าท้อง ลดความอยากอาหารได้

อบเชย มีแคลอรี่ต่ำมาก อาจช่วยต้านการอักเสบจากสารอนุมูลอิสระและช่วยต่อสู้กับแบคทีเรีย อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้

กระวาน มีแร่ธาตุสูง เช่น แมกนีเซียม สังกะสี อาจช่วยบรรเทาอาการท้องไส้ปั่นป่วน และอาจช่วยต้านการอักเสบ ท้องผูก ท้องเสีย อาการจุกเสียด โรคลมบ้าหมู โรคหัวใจและหลอดเลือด

กระเทียม ที่อาจลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ และอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและลดความดันโลหิต ซึ่งลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

ขิง อาจช่วยบรรเทาอาการท้องอืดและบรรเทาอาการคลื่นไส้ และอาจลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้

สะระแหน่ อาจช่วยขยายหลอดลมทำให้หายใจสะดวกขึ้นเมื่อสูดดม และอาจมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อได้อีก

ผงยี่หร่า อาจช่วยลดน้ำหนักได้ และจัดการความเครียดได้

ว่านหางจระเข้ อาจมีฤทธิ์ช่วยเร่งสมานแผล และยังช่วยป้องกันรอยแดง อาการคัน และการติดเชื้อ

ฟ้าทะลายโจร อาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคหลายชนิด เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะ โรคเรื้อน หลอดลมอักเสบ โรคผิวหนัง ท้องอืด จุกเสียด ไข้หวัดใหญ่

+รูปแบบของสมุนไพรที่ใช้เป็นยา

1.รูปแบบที่เป็นของเหลว ยาเหล่านี้มักได้จากกรรมวิธีต่างๆ กันเช่น ยาต้มคือหั่นต้นยาแล้วต้มกับน้ำ ยาชงเป็นยาแห้งหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คั่วแล้วนำไปชงกับน้ำ น้ำคั้นสมุนไพรเตรียมโดยการเอาต้นสมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียด เติมน้ำแล้วคั้นเอาน้ำยามารับประทาน และยาดองเตรียมโดยบดสมุนไพรให้แห้งห่อด้วยผ้าขาวบาง ดองในสุรา

2.รูปแบบที่เป็นของแข็ง ยาปั้นลูกกลอน เตรียมโดยหั่นต้นไม้ยาสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง

3 รูปแบบกึ่งแข็งกึ่งเหลว สมุนไพรเหล่านี้จะทำให้อยู่ในลักษณะพอทรงตัวได้ มักใช้เพื่อการรักษาภายนอก เช่น ยาพอก เตรียมโดยใช้ต้นสดตำให้แหลกหรือเหลว

4.รูปแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะการใช้พิเศษ เช่นใช้วิธีรมควัน เพื่อรักษาโรคของทางเดินหายใจ หรือการรมควันเพื่อรักษาแผล และให้มดลูกเข้าอู่ในสตรีภายหลังคลอด

+โทษและอันตรายจากการใช้ยาสมุนไพร

สมุนไพรนอกจากจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็อาจมีโทษและอันตรายได้เช่นกัน อันตรายจากสมุนไพรนั้นอาจแยกออกเป็น 3 ประการคือ

ประการที่หนึ่ง อันตรายที่เกิดจากโรคที่ขาดการรักษาเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคหืด ซึ่งการแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การให้ยานั้นเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ถูกต้องอาจจะเบื่อก็เลยหยุดยา แล้วรักษาด้วยสมุนไพร มียาสมุนไพรหลายชนิดที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค นอกจากนั้นโรคที่ท่านเป็นอยู่บางครั้งก็อาจจะไม่มีอาการเด่นชัด ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าโรคหายแล้วก็ละเลยกับการรักษาที่ถูกต้อง นานๆ ไปโรคเดิมอาจจะกำเริบเช่น เป็นความดันโลหิตสูงมากๆ ไม่ได้รักษาก็อาจจะทำให้เส้นเลือดแตกในสมองเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

ประการที่สอง เป็นอันตรายที่เกิดจากฤทธิ์ของสมุนไพรโดยตรง มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีสารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรง ถ้าได้รับเข้าไปจะทำให้เกิดอาการจากพิษของสารชนิดนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น มะเกลือ (มะเกลือเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง) เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าผลมะเกลือมีสารเคมีที่สำคัญหลายชนิดที่มีสรรพคุณในการขับถ่ายพยาธิ์ ตำรับยากลางบ้านได้แนะนำให้ใช้ผลมะเกลือสดตำคั้นผสมกระทิ ได้มีรายงานผู้ป่วยหลายรายที่ได้รับพิษจากมะเกลือ ผู้ป่วยมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเดิน หลังจากนั้นจะมีอาการตามัว ตามองไม่เห็น ตาบอดได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผลมะเกลือที่แก่เต็มที่จนมีสีดำนั้น อาจจะมีสาร nepthalene ซึ่งเป็นพิษต่อประสาทตาโดยตรง

ประการที่สาม อันตรายจากสารเจือปนในสมุนไพร ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ยาสมุนไพร เพื่อจะหาสารเจือปนที่อาจจะเป็นอันตรายจากตัวอย่างจำนวนร่วมร้อย พบว่ามี arsenic 60% มีสาร steroids 30% นอกจากนั้นมีสารปรอทและตะกั่วประปราย