วันที่ 16 มี.ค. 66 ที่สถาบันพระปกเกล้า ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ภายหลังงานเสวนา “KPI Election Forum : เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย” เนื่องในโอกาส ครบรอบ 25 ปี ของสถาบันพระปกเกล้า ถึงพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ว่า กระแสทางการเมืองเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งในวินาทีสุดท้าย ขณะเดียวกันประชาชนก็มีนักการเมืองในใจที่เรียกว่าความเชื่อมั่นพรรคเดิมที่เลือก แต่หากมีกระแสหรือกลยุทธ์ทางการเมืองเข้ามา จะทำให้คนเปลี่ยนใจใกล้วันหย่อนบัตร หรือไม่กี่วินาทีก่อนหย่อนบัตร นอกเหนือจากกระสุน แต่ส่วนตัวเชื่อว่ากระแสมาเหนือกระสุน 

ดร.ถวิลวดี กล่าวต่อว่า แม้มีโอกาสที่กระสุนสู้กระแสได้ แต่ตอนนี้ประชาชนเริ่มมีความรู้ และพรรคการเมืองใช้กลยุทธ์การหาเสียงตัดคะแนนคู่ต่อสู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีกลุ่มคนเข้าถึงข้อมูลอายุ 49 ปีลงมา และกลุ่มผู้สูงวัยก็ติดตามในโซเชียลของตัวเอง หรือการดึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมมาอยู่ตรงกลาง หรืออีกขั้วมาอยู่ตรงกลาง ที่จะเป็นทางเลือกใหม่หรือทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีพรรคการเมืองพยายามเสนอนโยบายเพื่อดึงฐานเสียงนั้น แต่เมื่อนโยบายครั้งนี้คล้ายกันหมด สิ่งที่ประชาชนดู จะเป็นเรื่องตัวพรรค ชื่อเสียงของพรรค และตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเองก็มีความหมาย

เมื่อถามถึงการสำรวจความนิยมที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีคะแนนนำสูง จะมีโอกาสแลนด์สไลด์ตามเป้าหมายได้หรือไม่ ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า การสำรวจความนิยมเพื่อไทยได้เยอะอยู่ แต่จะแลนด์สไลด์หรือไม่ ต้องดูว่าพรรคการเมืองอื่น เริ่มหาเสียงดึงดูดคะแนนได้มากขึ้น จะเห็นว่าในช่วงท้ายจะมีการโจมตีพรรคเพื่อไทยมากขึ้นด้วย

เมื่อถามย้ำว่า โค้งสุดท้ายเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์พรรคเดียวเพื่อตั้งรัฐบาล ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 310 ที่นั่ง ได้หรือไม่ ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า อาจจะยาก เพราะคนรุ่นใหม่หันมาดูพรรคทางเลือกอื่น ไม่เพียงพรรคเพื่อไทย แต่มีพรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทย จึงคิดว่าไม่น่าจะถึงเป้า และพรรคอื่นก็มีกลยุทธ์ วันนี้ผลสำรวจอาจจะเป็นอย่างนั้นที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คะแนนนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะนิด้าโพลสุ่มสำรวจทางวิชาการเชื่อถือได้ และคนอีสานไม่ค่อยเปลี่ยนใจ แต่คิดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็คะแนนดีขึ้นเช่นกัน ยังมีเวลาสร้างคะแนน