เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 16 มี.ค. 66 ณ ห้องภูวนาถประชาธิปก ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สถาบันพระปกเกล้า จัดงานเสวนา “KPI Election Forum : เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย” เนื่องในโอกาส ครบรอบ 25 ปี ของสถาบันพระปกเกล้า โดยมีนายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงาน ว่า อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของเรา คือเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตยในระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งเราจะเลือกตั้งด้วยการใช้ระบบบัตรสองใบ จึงต้องมีการศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ รวมไปถึงมีการวิจัยที่เกี่ยวกับกระบวนการในการเลือกตั้ง และส่งต่อองค์ความรู้ให้กับภาคประชาสังคม ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง และรณรงค์ให้ทุกคนใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานสุจริต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดหลักธรรมาภิบาล บริสุทธิ์ โปร่งใส เพื่อจะได้มีส.ส. ที่ทำหน้าที่แทนพวกเราในสภาผู้แทนราษฏร

จากนั้น ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวก่อนเริ่มต้นการเสวนาว่า งานที่เราทำมาโดยตลอดคือการทำเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย งานวิชาการหลายชิ้นที่เปิดเผยออกมา ก็เพื่อสะท้อนถึงภาพรวมของการเมืองไทย ที่จะไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนไทย ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ตั้งแต่ผลการวิจัยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งค่านิยมประชาธิปไตย ผู้หญิงกับการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสร้างสรรค์ การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมีความคิดเห็นอย่างไร นโยบายต่างๆของพรรคการเมือง และการประเมินการเลือกตั้งในต่างประเทศเพื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในประเทศไทย รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยจะมีการเสวนาสะท้อนสถานการณ์เลือกตั้ง “KPI Election Talk : เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย” เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. เป็นต้นไป และเปิดเผยผลการทำงาน ข้อมูลการสัมมนา ผลการเซอเวย์ ทั้งพฤติกรรมและทัศนคติคนไทย ก่อนและหลังการเลือกตั้ง ที่กำลังดำเนินการอยู่ ในเดือนเม.ย. และก.ค. รวมถึงผลการศึกษาจากพฤติกรรมการเลือกตั้งทั่วประเทศที่จะทยอยนำเสนอและเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ

ต่อด้วยการเสวนา ในหัวข้อ พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ใน 2 ทศวรรษ โดย ดร.ถวิลวดี และ นางสาวรัชวดี แสงมหะหมัด นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่ดำเนินรายการ โดย ดร.เลิศพร อุดมพงษ์ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่เสวนาเกี่ยวกับสิ่งที่สะท้อนจากประสิทธิภาพในทางการเมืองของประชาชน ถึงความสามารถของประชาชน ที่คิดว่าตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ด้วยการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และยังสะท้อนถึงความไว้เนื้อเชื้อใจ ที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองและตัวผู้สมัคร ผลพวงจากประสิทธิภาพของการทำงานของรัฐบาล ที่ส่งผลต่อกระแสประชาธิปไตย การรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ผ่านการสื่อสารต่างๆ ทั้งทางโซเชียลมีเดียและในสื่ออื่นๆ ที่ก่อให้กระแสสังคมตามมา ข้อมูลและปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง ตั้งแต่กลยุทธ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง ไปถึงระบบบัตรสองใบที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน 

สุดท้ายเป็นเวทีเสวนา ในหัวข้อ กติกาใหม่ กับพฤติกรรมการหาเสียงและการลงคะแนนการเลือกตั้ง โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่ดำเนินรายการ โดย นายภูริภัทร์ เครือนพรัตน์ นักวิชาการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า