“จุรินทร์” เปิดนับหนึ่งเจรจา FTA ไทย-อียู สร้างแต้มต่อ “สินค้า-บริการ-ลงทุน” ไทยกับ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เดินหน้าสร้างเงิน สร้างอนาคตประเทศ
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.66 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (Mr.Valdis Dombrovskis) ผ่านระบบ VC เพื่อเริ่มเปิดการเจรจานับหนึ่ง FTA ไทยกับสหภาพยุโรป หลังจากที่นายจุรินทร์ได้เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา และนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่าย ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเจรจาทำ FTA ระหว่างไทย-อียู สองฝ่าย เกิดจากความพยายามของไทยกับสหภาพยุโรปเกือบ 10 ปี แต่ติดขัดช่วงที่ผ่านมา ครั้งหลังสุดตนนำคณะเดินทางไปพบกับท่านวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันนำไปดำเนินการภายในทั้ง 2 ฝ่าย ตนได้นำเรื่องเห็นชอบผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ วันนี้ตนได้พบกับท่านดอมบรอฟสกิสอีกครั้ง ประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการนับหนึ่งการจัดทำ FTA ไทย-อียู ตั้งเป้าเสร็จภายใน 2 ปี คือปี ค.ศ.2025 หรือ พ.ศ.2568 หัวข้อทั้งเรื่องการค้าสินค้า บริการและการลงทุนระหว่างกัน จะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และไทยจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการจัดทำ FTA ครั้งนี้
ทั้งนี้ชัดเจนสำหรับไทย 1.เมื่อมีผลบังคับใช้ ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป 27 ประเทศในที่สุดจะเป็นศูนย์ สามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น 2.ภาคบริการ จะสร้างโอกาสในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในภาคบริการหลายด้าน เช่น ค้าส่ง-ปลีก การผลิตอาหารและการท่องเที่ยว เป็นต้น 3.การนำเข้าวัตถุดิบภาษีก็จะเป็นศูนย์เช่นเดียวกัน ภาคการผลิตของเราจะลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ 4.การแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5.จะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย เพิ่มตัวเลขการลงทุน เพิ่มจีดีพีให้ประเทศ และ 6.ทำให้ไทยเพิ่มจำนวน FTA มากขึ้นจากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศจะเพิ่มเป็น 15 ฉบับกับ 45 ประเทศในทันทีที่มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่สหภาพยุโรป 27 ประเทศตกลงทำ FTA ด้วย (มีเวียดนามและสิงคโปร์ ที่มี FTA กับอียูแล้ว)
โดยสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทย 7% ที่ไทยค้ากับโลก ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปปี 2566 ประเทศไทยได้ดุลถึง 150,000 ล้านบาท การทำ FTA กับอียู ที่ได้นับหนึ่งอย่างเป็นทางการในวันนี้ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์อย่างยิ่งไทยและกับอียูเช่นเดียวกันในหลากหลายมิติ ถัดจากนี้จะเริ่มต้นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพครั้งแรก และเมื่อได้ข้อตกลงครบทุกหัวข้อประเทศไทยจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อให้สัตยาบัน ฝั่งอียูก็ดำเนินการทางฝั่งอียูเช่นเดียวกัน และจะลงนามบังคับใช้ได้ คือการสร้างเงิน สร้างอนาคตครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งให้กับประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพหลักในการเจรจา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว RCEP ก็จบในยุคที่ตนกับอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ทำหน้าที่ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ยุคนี้