วันที่ 15 มี.ค.66 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ระบุว่า...

รถไฟฟ้าสายอาถรรพ์

รถไฟฟ้าสายสีส้มถูกนำเข้า ครม. ด้วยความเห็นชอบของรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงคมนาคม คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ที่พยายามอย่างยิ่งยวด อยากให้ผ่านในวาระประชุมทิ้งทวนครั้งนี้ให้ได้

ด้วยการไฟเขียวของนายกฯ ที่ขณะนี้เปรียบเสมือน “คอหอยกับลูกกระเดือก” คู่นายอนุทิน

เรื่องของเรื่องคือ หลงคารมนายอนุทินในเรื่องคะแนนเสียง หารู้ไม่ว่า ขณะนี้ตกต่ำขนาดหน้าอกติดดินแล้ว

การประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีเรื่องคาอยู่ที่ศาล และสังคมจับจ้อง

แต่นายวิษณุ เครืองาม และผู้ว่าฯ รฟม. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ วางเกมตั้งแต่เมื่อคืนโดยยกเหตุผลว่า “ประชาชนจะเดือดร้อน”

รัฐมนตรีมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คัดค้านถามว่า “หากขึ้นศาลจะอ้างประชาชนที่ไหน?”

ประสานเสียงผู้ที่ไม่เห็นด้วยอีกหลายคน คอยคัดค้านอยู่ ได้แก่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมว.สำนักนายกฯ

ส่วนผู้ที่เห็นชอบมี

นายอเนก เหล่าธรรมนัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ

นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รมว.ท่องเที่ยวกีฬา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข

สองรายหลังนี้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเป็นตัวตั้งตัวตี

ใครเป็นใครสังคมจดจำเอาไว้แล้วกัน

ท้ายสุด นายกฯ ยอมถอย ให้ถอนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มออกจากวาระ และอย่านำเข้าประชุม ครม. อีก

เรื่องนี้ หากผมไม่นำเอามาให้สังคมได้เห็นถึงผลต่างที่ BTS เสนอคืนผลตอบแทนให้รัฐ ในระยะเวลา 30 ปี ถึง 70,000 ล้านบาท

ในขณะที่ BEM เสนอเพียง 7,000 ล้านบาท หรือปีละ 233 ล้านบาท เดือนละแค่ 19.4 ล้านบาท

ห่างกันถึง 1,000% คิดดูแล้วกันว่า ผลประโยชน์ไปตกที่ไหน?

มันแตกต่างกันอย่างมหาศาล

คำสาปแช่งผมคงได้ผล

“ใครที่ได้เงินจากรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้ากระเป๋าส่วนตัว ขอให้วิบัติล่มจม ได้ใช้เงินแบงค์กงเต๊ก ที่เผาไปให้ใช้ในปรโลก”

จะได้สำนึกเรื่องผลประโยชน์บ้านเมืองบ้าง

มันช่างอาถรรพ์จริงๆ ครับ

 

 

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์