นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ยืนยันผู้ที่มีสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัวสามารถรับประทาน “ไข่ไก่” ได้วันละ 1 ฟอง การรับประทานไข่ไก่ทั้งฟองจะได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้งโปรตีนและไขมัน ชี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งยังต้องการอาหารโปรตีนสูง สามารถกินไข่ไก่ได้ตามปกติอย่างปลอดภัย
วันที่ 14 มี.ค.66 นางสาวภัคธีมา ภู่ทอง นักกำหนดอาหารวิชาชีพ รพ.จุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า “ไข่ไก่” เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพดีและเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด โดยไข่ไก่ 1 ฟอง มีโปรตีนสูงถึง 7 กรัม ซึ่งโปรตีนมีหน้าที่หลักช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและร่างกาย เป็นองค์ประกอบของเซลล์ เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมนต่างๆ ที่สำคัญ มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนถึง 9 ชนิด รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี12 วิตามินบี2 ธาตุเหล็ก และโฟรเลต ซึ่งวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง นอกจากนี้ ยังมีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
“สำหรับผู้บริโภคที่กังวลเรื่องคอเลสเตอรอลในไข่แดง และเลือกรับประทานเพียงไข่ขาว ยืนยันว่า การรับประทานไขมันที่อยู่ในไข่แดงไม่ได้ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีสามารถรับประทานไข่ไก่ได้ทั้งฟองโดยไม่จำเป็นต้องแยกไข่แดงหรือไข่ขาว เพราะประโยชน์และคุณค่าสารอาหารแตกต่างกัน ในไข่แดงมีกรดไขมันโอเมก้า 3 รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่ในไข่ขาวไม่มี ขณะที่ไข่ขาวจะมีโปรตีนอัลบูมิน เป็นแหล่งของโปรตีนที่จำเป็นที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นการรับประทานรวมกันทั้งฟองจะได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้งโปรตีนและไขมัน” นางสาวภัคธีมา กล่าว
ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนคำแนะนำการบริโภคอาหาร โดยยกเลิกข้อจำกัดของการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอล จากเดิมที่จำกัดไว้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากมีหลักฐานไม่ชัดเจนและไม่เพียงพอ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลกับระดับของคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ก็ได้ เพราะร่างกายมีการสร้างคอเลสเตอรรอลได้เอง หากรับประทานคอเลสเตอรอลเข้าไปมาก ร่างกายจะมีการปรับสมดุล ลดการสร้างคอเลสเตอรอลและลดการดูดซึมลง ดังนั้นผู้บริโภคไม่ต้องกังวล โดยเฉพาะคนที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถรับประทานไข่แดงได้ตามปกติ” นางสาวภัคธีมา กล่าว
ที่สำคัญคือการปรุงประกอบที่เหมาะสม แนะนำว่าควรใช้วิธีการต้มหรือการตุ๋น เนื่องด้วยในไข่ไก่ 1 ฟอง มีปริมาณคอเลสเตอรอลอยู่ 180 มิลลิกรัม หากนำไปปรุงประกอบด้วยวิธีการทอด การผัด ที่ใช้น้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันในกลุ่มปาล์ม ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวค่อนข้างสูง จะส่งผลให้ไขมันไม่ดีในเลือดเพิ่มสูงขึ้นด้วย ผู้บริโภคควรเลี่ยงการใช้น้ำมันในการทำเมนูต่างๆ
สำหรับปริมาณแนะนำในการบริโภคไข่ไก่อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้ คือ วัยทารกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถรับประทานไข่แดงต้มสุกครึ่งฟอง -1 ฟอง บดผสมกับข้าว ทารกวัย 6 เดือน-1 ปี ไข่ต้มสุกครึ่งฟอง -1 ฟอง ในวัยก่อนเรียน วัยเรียน วัยทำงาน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัว สามารถรับประทานได้เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง ส่วนกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ให้จำกัดการบริโภคไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ยังสามารถรับประทานได้เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
“ขอย้ำถึงเรื่องเนื้อไก่และไข่ไก่ ที่อาจมีความเข้าใจผิดว่ามีความเสี่ยงในการกระตุ้นเซลล์มะเร็งนั้น "ไม่เป็นความจริง" กลุ่มคนที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งไม่ได้มีข้อจำกัดในการกินเนื้อไก่ ไข่ไก่ หรือโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ เนื่องจากไม่มีผลต่อการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเพิ่มมากขึ้น แม้จะไม่ได้รับประทานโปรตีนจากเนื้อไก่หรือไข่ไก่ เซลล์มะเร็งก็เพิ่มขึ้นได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ที่สำคัญผู้ป่วยมะเร็งยังคงต้องการโปรตีนสูง จึงจำเป็นต้องรับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ หรือโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์” นางสาวภัคธีมา กล่าว
นางสาวภัคธีมา ย้ำเรื่องการเลือกซื้อไข่ไก่ที่มีคุณภาพ ให้สังเกตที่ความสด สะอาด ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้คุณภาพแข็งแรง แนะนำให้เลือกซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานความปลอดภัย มีฉลากแสดงวันเดือนปีที่ผลิตและวันที่ควรบริโภคก่อนที่ชัดเจน รวมไปถึงมีฉลากโภชนาการ สำหรับผู้บริโภคที่เลือกซื้อในตลาดสดให้สังเกตเปลือกไข่ที่ผิวสะอาด หากเป็นไข่สดใหม่เปลือกไข่จะยังมี นวลไข่ และต้องไม่ยุบ บุบ แตก ช่วยให้มั่นใจว่าเป็นไข่ไก่ที่มีคุณภาพดีเหมาะสำหรับการบริโภค