นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการประกันและอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค"บรรยง วิทยวีรศักดิ์"ความว่า
ทำไม จึงไม่พบเหตุการณ์ Bank Run ในธุรกิจประกันชีวิต
Bank Run คือ ปรากฏการณ์ที่ลูกค้าจำนวนมาก แห่กันมาถอนเงินออกจากธนาคารพร้อมๆกัน ด้วยความกังวลว่าธนาคารกำลังขาดสภาพคล่อง หรือมีเงินไม่พอจ่าย
แต่ผมไปหาคำว่า Insurance Run ในพจนานุกรมทางการเงิน หรือใน Google ไม่พบคำนี้ ครั้นไปค้นหาคำว่า Bank run ในธุรกิจประกันชีวิตก็ไม่พบ แสดงว่ามีปรากฏการณ์คนแห่ถอนเงินจากบริษัทประกันชีวิตพร้อมๆกันมีน้อย หรือแทบไม่มีเลย
เป็นเพราะอะไร วันนี้มีคำตอบมาเฉลยครับ
1. ธุรกิจประกันชีวิตมีกระแสเงินสดเข้าตลอดเวลา
ธุรกิจประกันชีวิตจะต่างกับธุรกิจธนาคารตรงที่ มีเบี้ยประกันไหลเข้าบริษัทตลอดเวลา เพราะเบี้ยประกันของบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่เป็นเบี้ยประกันรายปี ที่ต้องจ่ายเข้ามาทุกปี และลูกค้ามักระจายกันทำประกันชีวิตในเดือนต่างๆไม่พร้อมกัน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจึงมีเงินไหลเข้าตลอดเวลาและเป็นเงินสด จึงทำให้บริษัทประกันชีวิตมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง
ประเด็นนี้จะต่างกันชัดเจนกับธุรกิจธนาคาร ยามเศรษฐกิจดีก็อาจจะพบว่ามีเงินไหลเข้ามาจำนวนมาก หากเศรษฐกิจไม่ดีหรือธนาคารมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เงินจะหยุดไหลเข้าทันที ส่วนเงินที่ฝากอยู่ก็พร้อมจะไหลออกในทันทีเช่นกัน
2. กรมธรรม์ประกันชีวิต ถ้าถอนก่อนกำหนดมักจะขาดทุน
กรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นการออมระยะยาว ดังนั้น จึงมีข้อกำหนดว่า หากถ้าลูกค้าถอนก่อนกำหนด จะได้เงินน้อยกว่าที่จ่ายเข้าไป เพราะยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน โดยทั่วไป จุดคุ้มทุนมักจะอยู่ปีที่ 3 ใน 4 ของอายุกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์สะสมทรัพย์ 20 ปี จุดคุ้มทุนที่เวนคืนแล้วไม่ขาดทุน มักจะอยู่ปีที่ 15 ขึ้นไป
การเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา ทำให้ได้เงินไม่ครบ จึงไม่จูงใจให้ลูกค้าถอนเงินจากกรมธรรม์ ไม่เหมือนการฝากธนาคาร ที่ถอนเมื่อไหร่ก็มักจะได้เงินต้นคืน 100% ซึ่งในสถานการณ์ที่ลูกค้าหวาดระแวง ลูกค้ามักจะไม่สนใจดอกเบี้ยแล้ว ขอได้เงินต้นคืนก็พอ จึงทำให้ฝูงชนที่ตื่นตระหนกพร้อมจะไปถอนเงินออกจากธนาคารทั้งหมดได้ทุกเมื่อ
3. กรมธรรม์ประกันชีวิตมีขั้นตอนการเวนคืนที่ซับซ้อนกว่า
การถอนเงินจากธนาคารนั้นง่ายมาก แค่เซ็นชื่อแก๊กเดียวก็ถอนเงินทั้งหมดได้แล้ว ยิ่งในยุคดิจิตอล เราสามารถโอนเงินจากธนาคารทั้งหมด ทางออนไลน์ได้ในเวลาช่วงพริบตา จึงทำให้เงินเคลื่อนย้ายได้ง่ายมาก
แต่เงินที่สะสมอยู่ในกรมธรรม์ประกันชีวิต ต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบลายเซ็นได้และได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ จริงอยู่ว่า ในปัจจุบัน หลายบริษัทประกันชีวิตก็อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถถอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของบริษัททางออนไลน์ได้ แต่ถ้าเป็นวงเงินที่สูง เช่น มีการถอนเงินมากกว่าหนึ่งล้านบาทขึ้นไป อาจจะต้องมีขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่อาวุโสตรวจสอบลายเซ็น หรือแม้แต่โทรศัพท์ไปสอบถามข้อกังวลของลูกค้า พร้อมกับเกลี้ยกล่อมให้ความมั่นใจกับลูกค้าคงเงินนั้นต่อไป ทำให้บริษัทมีเวลาตั้งหลักหรือประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อสกัดกั้นการตื่นตระหนกของประชาชนต่อไป
4. โอกาสที่บริษัทประกันชีวิตจะขาดทุนมหาศาลอย่างฉับพลันมีน้อย
ธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่อาศัยค่าสถิติจำนวนมากในการคำนวณ ไม่ว่าโอกาสที่คนจะเสียชีวิตหรือเบี้ยประกันชีวิตที่คำนวณออกมานั้น ล้วนแต่ใช้ตัวเลขสถิติที่เก็บมาในระยะยาวไม่ต่ำกว่า 20-50 ปี จึงเป็นตัวเลขที่มีความเชื่อถือและค่อนข้างคงที่
โอกาสที่คนจะเสียชีวิตพร้อมๆกันจำนวนมาก เช่นเกิดแผ่นดินไหวหรือโรคระบาดที่คนตายเป็นเบือ ยังไม่พบในประเทศไทยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคโควิดก็ยังไม่ทำให้มีคนเสียชีวิตมากพอ ที่จะทำให้บริษัทประกันชีวิตได้รับผลกระเทือน ดังนั้น จึงไม่สามารถเป็นเหตุจูงใจให้คนตื่นตระหนกแล้วมาถอนเงินจากบริษัทประกันชีวิตได้
ความเสี่ยงในลักษณะนี้ มีโอกาสที่จะเกิดกับบริษัทประกันวินาศภัยมากกว่าเพราะธุรกิจวินาศภัยเป็นการเดิมพันที่สูงจ่ายเบี้ยประกันเพียงแค่ 0.25-1% แต่ถ้าเกิดภัยขึ้นจะได้รับเงินชดเชยถึง 100% ดังนั้นเมื่อเกิดภัยขึ้นพร้อมกัน ก็ทำให้บริษัทนั้นล้มได้ง่าย
หรืออย่างกรณีบริษัท AIG ที่ผ่านมา ก็ล้มเนื่องจากมีหน่วยงานที่ไปรับประกันตราสารหนี้ลูกผสมว่า หากบริษัทที่ออกตราสารหนี้ล้มไป ก็พร้อมจะชดเชยเงินต้นให้แทนทั้งหมด ซึ่งก็เป็นธุรกิจประกันวินาศภัยรูปแบบหนึ่ง แต่สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่อยู่ภายใต้ AIG ยังมีความแข็งแรง จึงมีคนพร้อมที่จะเทคโอเวอร์และซื้อไปดำเนินธุรกิจต่อไป นั่นหมายความว่าลูกค้าที่ออมเงินในบริษัทประกันชีวิตจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการแยกเงินและแยกบัญชีออกจากบริษัทแม่ชัดเจนตามกฏหมาย ซึ่งทุกประเทศจะใช้กฎหมายนี้ดูแลเหมือนกัน
5. ธุรกิจประกันชีวิตมีการตรวจสอบที่เข้มข้นมาก
การออมเงินในกรมธรรม์ประกันชีวิตถือเป็นการออมเงินระยะยาว และเป็นเงินที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของประชาชนเมื่อยามเกษียณอายุ หน่วยงานรัฐคือคปภ. จึงมีการตรวจสอบที่เข้มข้น โดยมีการกำหนดว่า ให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ไม่เกิน 25% และในสินทรัพย์เสี่ยงนี้ ก็ยังมีกำหนดลึกลงไปอีกว่า การลงทุนในหุ้นก็ต้องกระจายไม่เกินบริษัทละกี่เปอร์เซ็นต์ ปล่อยกู้ได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ เงินส่วนใหญ่ให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน
ใช่ครับ ลงทุนก้อนใหญ่ที่สุดของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ในพันธบัตรระยะยาวถึง 50% พวกเราอาจจะกลัวว่า ในภาวะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ตราสารหนี้ระยะยาวพวกพันธบัตรและหุ้นกู้จะมีราคาลดลง และไปกระทบต่อสถานะของบริษัทประกันชีวิตหรือเปล่า คำตอบคือไม่กระทบ เพราะบริษัทประกันชีวิตมักจะถือตราสารหนี้เหล่านั้นไว้จนครบสัญญา และดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้ลูกค้าเสมอ (cover liabilities) จึงสามารถครอบคลุมภาระผูกพันธ์ที่มีต่อลูกค้าตลอดสัญญาแน่นอน
อาจจะมีคนถามว่า แล้วถ้าหากลูกค้ามาถอนพร้อมๆกัน ทำให้บริษัทต้องขายตราสารหนี้ส่วนนี้ออกมาในราคาขาดทุน จะกระทบต่อบริษัทเหมือนกับที่เกิดกับธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ไหม คำตอบคือกระทบน้อย เพราะถ้าลูกค้าถอนก่อนกำหนด ลูกค้าก็จะได้รับเงินเวนคืนค่อนข้างน้อย เช่น ถ้าถอนใน 10 ปีแรกของสัญญากรมธรรม์แบบ 20 ปี ก็อาจจะขาดทุนถึง 20% ของเงินต้นทำให้บริษัทประกันชีวิตที่ขายตราสารหนี้ออกมาถึงแม้ขาดทุน แต่ก็ขาดทุนน้อยกว่าที่จ่ายให้ลูกค้า ซึ่งเรื่องเหล่านี้บริษัทประกันชีวิตได้คิดไว้ล่วงหน้า และตกลงกับลูกค้าแล้วว่า เงินนี้เป็นการลงทุนระยะยาว หากลูกค้าผิดสัญญาก็จะมีข้อกำหนดลงโทษ ให้ได้เงินน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ (หากถือจนครบสัญญา)
6. มีกองทุนประกันชีวิตรับประกันในวงเงินหนึ่งล้านบาท
ธุรกิจประกันชีวิตก็มีกองทุนประกันชีวิต ที่ทำหน้าที่เหมือนสถาบันประกันเงินฝาก กล่าวคือในกรณีที่มีบริษัทประกันชีวิตล้มหายตายจากไป กองทุนประกันชีวิตจะทำหน้าที่ เข้ามาดูแล โดยจะชดเชยให้ผู้ถือกรมธรรม์ทุกคนในวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาท ตามมูลค่าเงินสดที่เรามีสะสมอยู่กับบริษัทประกันชีวิตนั้นๆ ซึ่งตั้งแต่ตั้งกองทุนนี้มา ผมก็ยังไม่เคยได้ยินว่าต้องไปชดเชยเงินให้กับลูกค้าของบริษัทไหน เพราะธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่มีกำไรค่อนข้างแน่นอน หากจะขาดทุนก็เกิดจากการที่มียอดขายน้อยเกินไป ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้เกิดจากการที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้มีนักธุรกิจที่พร้อมจะเข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทประกันชีวิตอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ไปกระทบจนต้องไปขอความคุ้มครองจากกองทุนประกันชีวิต  โดยลูกค้าส่วนใหญ่ในประเทศไทย กว่า 90% มีเงินออมในบริษัทประกันชีวิตไม่เกินหนึ่งล้านบาท คนส่วนใหญ่จึงมั่นใจได้ว่าได้รับการคุ้มครองโดยกองทุนประกันชีวิตอยู่แล้ว หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น 
ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น เราจึงไม่พบเห็นปรากฏการณ์ Bank Run ในธุรกิจประกันชีวิต แม้แต่ตอนที่บริษัท AIG มีปัญหานั้น อาจจะมีคนบางส่วนแห่กันมาถอนเงินที่บริษัท AIA โดยเข้าใจว่าบริษัท AIG จะสามารถดึงเงินจากบริษัท AIA ไปทั้งหมดได้ แต่ตามกฎหมาย ผู้ถือหุ้นต้องดำรงเงินกองทุนให้เพียงพออยู่เสมอ ไม่สามารถถอนเงินลงทุนตามกฎหมายของตนออกไปได้ นี่ไม่ต้องพูดถึงเงินเบี้ยประกันส่วนของลูกค้าที่คปภ.ควบคุมใกล้ชิด โดยระบุว่าต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์อะไร แล้วต้องนำตราสารที่ลงทุนไปฝากไว้ที่คัสโตเดียนหรือผู้รักษาหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกแห่ง ที่เป็นคนกลางคอยดูแลความมีอยู่จริงของสินทรัพย์ เช่น ซิตี้แบงค์หรือธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น จึงมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันตลอดเวลา ผู้เอาประกันภัยจึงมั่นใจได้ว่าได้รับการคุ้มครองดูแลจากคปภ.เป็นอย่างดี
หวังว่าบทความนี้ จะทำให้ผู้เอาประกันชีวิตสบายใจได้ว่า เงินของท่านที่เก็บออมไว้ในบริษัทประกันชีวิต เพื่อหวังไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิต หรือจะส่งต่อไปให้ลูกหลานนั้น ได้รับการปกป้องอย่างดี มีความมั่นคงสูง ไม่เกิดเหตุการณ์ Bank Run อย่างที่ปรากฏในสหรัฐแน่นอนครับ