นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีธนาคาร Silvergate Capital ในสหรัฐปิดทำการ และธนาคาร Silicon Valley (SVB) ประสบปัญหาสภาพคล่องหนัก จนสหรัฐต้องประกาศแนวทางคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินใน SVB รวมทั้งตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหากู้เงินกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเบื้องต้นประเมินว่ายังไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทย เพราะระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแรงมาก และมีโชคด้วย เพราะมีทุนเฉลี่ย 18-19% ซึ่งสูงที่สุดในโลก รวมถึงเงินที่มาจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี่) ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้หากมีผลกระทบคงอยู่ในด้านสภาพคล่องมากกว่า เพราะสภาพคล่องในตลาดโลกลดลง เนื่องจากมีหลายธนาคารที่ตอนนี้ยังไม่สามารถเบิกถอนได้ตามปกติ ซึ่งส่วนนี้อาจมีผลกระทบทางอ้อมขึ้น แต่จากการประเมินเชื่อว่ายังน้อยอยู่ โดยระบบธนาคารพาณิชย์เป็นการฝากเงินระยะสั้น นำเงินไปปล่อยในระยะยาว ป้องกันความเสี่ยงผ่านการกระจายฐานเงินฝาก ภาพรวมเศรษฐกิจ และการลงทุนให้เหมาะสม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ เรามีความเข้มแข็งอยู่
นายภากร กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักในปี 2566 คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจถดถอย และการลดลงของสภาพคล่อง ซึ่งภาวะเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกสักพักใหญ่ จนกว่าธนาคารทั่วโลกจะมองเห็นว่า ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อลดลง ซึ่งจะเป็นผลกระทบ อาทิ ทำให้เกิดการถอนเงินจนสถาพคล่องลดลง โดยหากเรามีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นว่าต้นต่อของเหตุต่างๆ คลายตัวได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวบอกได้ว่า สภาพคล่องจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร สำหรับทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ขณะนี้เราเห็นเม็ดเงินลงทุนสลับจากการลงทุนความเสี่ยงน้อย ไปลงทุนในความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างประเทศไทย ก็เป็นส่วนที่คาดหวังผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าการลงทุนประเภทอื่นได้ โดยหากสถานการณ์คลายลง อาจเห็นกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลกลับเข้ามาใหม่ได้
นายศรพล ตุลยเสภียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ความเชื่อมโยงกับไทย หากดูสาเหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ของไทย เพราะลูกค้าธนาคารพาณิชย์ไทยค่อนข้างมีความแตกต่าง และเป็นฐานรากของธุรกิจ ต่างจากลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ ที่เป็นกลุ่มสตาร์ตอัพ หรือไฮเทคเป็นหลัก ทำให้กรณีที่จะเกิดผลกระทบลามาถึงจากกลไกสาเหตุเดียวกัน มองว่าไม่ใช่ รวมถึงขนาดของธนาคารสหรัฐที่เกิดวิกฤตนั้นมีความใหญ่มากพอ จนลุกลามถึงการเชื่อมโยงช่องทางส่งออกหรือนำเข้าจากไทย อันนี้ก็มองว่าไม่น่าจะถึงขั้นนั้น เพราะขนาดของธนาคารนี้แม้จะใหญ่แต่ก็เป็นสัดส่วนที่ไม่มาก หากเทียบกับธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ รวมถึงถูกควบคุมสถานการณ์ไว้แล้ว และตัวเลขจีดีพีของสหรัฐที่ออกมาก็ค่อนข้างเข้มแข็งด้วย จึงมองว่ายังไม่ได้เป็นผลกระทบกับไทย
สำหรับช่องทางอื่นที่จะลามได้ก็เป็นช่องทางการเงินที่ยังต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างใกล้ชิด ซึ่งเท่าที่ประเมินก็มีปรับขึ้นเล็กน้อย ก่อนจะกลับลงมาได้บ้าง โดยตัวที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้คือ ความกลัวไปเอง ในบรรยากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทย ทั้งที่พื้นฐานแตกต่างกัน