วันที่ 13 มี.ค.66 ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2566 ว่า ปัจจุบันได้ทำโครงการนักสืบฝุ่น โดยนำนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาวิเคราะห์ว่าฝุ่นในกรุงเทพมหานครเกิดจากอะไร โดยเริ่มวิเคราะห์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 พบว่า หากฝุ่นละออง PM2.5 มีไนโตรเจนผสมอยู่มาก แสดงว่าเกิดจากควันรถยนต์ และหากฝุ่นละออง PM2.5 มีสารโพแทสเซียมผสมอยู่มาก แสดงว่ามาจากการเผาชีวมวล จากการวิเคราะห์ พบว่า ในช่วงเวลาฝุ่นน้อย ปรากฏว่ามีส่วนผสมของไนโตรเจนสูง คือฝุ่นที่มาจากรถยนต์เป็นส่วนมาก ส่วนในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง ปรากกฏว่ามีส่วนผสมของโพแทสเซียมมาก คือฝุ่นที่มาจากการเผาชีวมวล จากการวิเคราะห์ดังกล่าวจึงทำให้ กทม.ต้องดูแลฝุ่นครบวงจร ทั้งเรื่องรถยนต์ การเผาชีวมวล และสภาพอากาศ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นจากรถยนต์ต้องใช้มาตรการให้เข้มข้นขึ้น โดยการตรวจที่แหล่งกำเนิด เช่น ไซต์ก่อสร้าง โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ โรงงาน ที่จอดรถยนต์ อู่รถเมล์โดยเน้นจุดที่รถหนีไม่ได้ เพราะกทม.ไม่มีอำนาจหยุดรถขณะวิ่งบนถนน ที่ผ่านมา กทม.ตรวจรถยนต์ไปแล้วประมาณ100,000 คัน รวมถึงโรงงานผสมปูน และโรงงานต่างๆ จะเห็นว่าการเผาชีวมวลในกทม.น้อยลง เพราะกทม.เริ่มตรวจตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะเขตหนองจอก เขตมีนบุรี ปัจจุบันการเผาลดลง อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยจากฝุ่นสูงขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 45% มีการให้บริการผู้ป่วยในศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ ของกทม.พร้อมแจกหน้ากากอนามัยไปแล้วประมาณ 6 แสนกว่าชิ้น และทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็กต่างๆ ส่วนในโรงเรียนเน้นให้เด็กนักเรียนสวมหน้ากากอนามัย และลดกิจกรรมกลางแจ้ง

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องขอความร่วมมือทำงานที่บ้านต้องดูจังหวะความรุนแรงของฝุ่นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์สัปดาห์นี้สถานการณ์ฝุ่นยังไม่รุนแรงจนถึงวันที่ 16 มี.ค. ซึ่งอาจมีฝุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับฝนและลมจากทิศใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่วนเรื่องการกำหนดพื้นที่ลดมลพิษจากรถเก่าตามตัวอย่างมาตรการจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อยู่ระหว่างการศึกษา เพราะการจำกัดรถยนต์เข้าพื้นที่เป็นอำนาจของตำรวจ รวมถึงกำลังศึกษาข้อบังคับกรณีรถยนต์เก่าเข้าพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จากการปรึกษานักเศรษฐศาสตร์เมื่อช่วงต้นปีได้รับคำแนะนำว่า ต้องคิดให้ดี เนื่องจากอาจได้ไม่คุ้มเสียในแง่ต้นทุน ขณะเดียวกัน หากลดการใช้รถยนต์ลง แต่ฝุ่นยังสูงขึ้นจากมิติอื่น อาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และทำให้ผู้เดินทางหลายคนเดือดร้อน ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ จึงเป็นสาเหตุในการทำวิจัยสาเหตุฝุ่นในครั้งนี้ เพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาวให้ตรงจุดต่อไป