นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ ถูกสั่งปิด รวมถึงธนาคาร Signature Bank ที่ถูกสั่งปิดด้วยเช่นกันว่า กระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันต้องรอฟังข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำหน้าที่ติดตามเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ยืนยันมาตลอดว่าเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงแข็งแรง ยังได้รับความน่าเชื่อถืออยู่ ทั้งนี้จากที่ติดตามสถานการณ์เบื้องต้น มองว่าน่าจะมีผลกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากกว่า ส่วนรายละเอียดต่างๆคงต้องรอทาง ธปท. อีกครั้ง ว่าจะมีผลกระทบอะไรกับสถาบันการเงินของไทยหรือไม่
สำหรับตลาดพันธบัตรในขณะนี้ มองว่าเป็นไปตามภาวะตลาด แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 2 ธนาคาร มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้นักลงทุนตกใจ ซึ่งสะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง และเมื่อกระทบกับความเชื่อมั่น ก็จะมีผลทำให้ต้นทุนในเรื่องของความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือไปจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารในสหรัฐฯ อีกด้วย
โดยเท่าที่ติดตามดูตอนนี้ จะมีกระทบแค่ตลาดหุ้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุน จากความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่อยากให้ดูอย่างดาวน์โจนส์ หลังจากที่มีการประกาศเรื่องความชัดเจนของภาระต่างๆในประเด็นที่เกิดขึ้น หุ้นก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เคสอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยวิกฤติฟองสบู่ของเรา แต่ของสหรัฐฯ ในรอบนี้ขนาดใหญ่กว่า จำนวนธนาคารในสหรัฐก็เยอะมาก เรื่องที่เกิดเข้าใจว่าเป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่ทางการเขาจะดำเนินการอย่างนี้ ซึ่งหลักการของเขาก็จะคล้ายกับของเรา คือ ต้องไม่เป็นภาระประชาชน ทั้งนี้เบื้องต้นทราบว่าสถาบันการเงินหรือกองทุนต่างๆของไทย เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 ธนาคารดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ส่งผลกับระบบการเงินของไทย
ส่วนเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำเมื่อปี 2540 ซึ่งมีการคุ้มครองในระดับจำนวนหนึ่ง แต่ของไทยนั้นการคุ้มครองเมื่อถึงจุดหนึ่งที่หมดความจำเป็น ก็ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งเรื่องการคุ้มครองเงินฝากเราทำมาก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา โดยจะมีการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบด้วย