หากพูดถึงโครงการพัฒนาการเรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม  อย่างเต็มรูปแบบและเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ริเริ่มโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ถือเป็นต้นแบบของโครงการ ‘รัฐร่วมเอกชน’ ที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศผ่านสะเต็มศึกษา ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 1,120 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายในการสร้างรากฐานสำคัญเพื่อพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่เชฟรอนและพันธมิตรได้พาโครงการฯ สำเร็จลุล่วงมาตลอด 8 ปี

โดยภายในงาน Southeast Asian STEM Education Fair and Exposition 2023 ที่ SEAMEO STEM-ED ได้จัดขึ้นด้วยการสนับสนุนหลักจากเชฟรอน ถือเป็นเวทีสรุปผลความสำเร็จสำคัญของโครงการฯ พร้อมเปิดแนวทางสานต่อสะเต็มศึกษาทั้งระดับประเทศและภูมิภาคให้ก้าวเดินต่อไป โดยภายในงาน มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้พัฒนาหลักสูตรการศึกษา พันธมิตรหลากหลายภาคส่วน และเยาวชนจากทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายในงาน นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผ่านการศึกษาว่า “ตั้งแต่ริเริ่ม โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’  เมื่อปี 2558 เรามองถึงความยั่งยืนของโครงการ จึงทำอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี เพราะมีความตั้งใจจริงที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีของสังคมผ่านการทำโครงการระยะยาวร่วมกับพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยจากวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นใน ‘พลังคน’ เราจึงมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรผ่านการปฏิรูปและยกระดับการศึกษา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายทศวรรษ เราได้ให้การสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาหลากหลายโครงการ พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาและผสานองค์ความรู้สาขาสะเต็มในระบบการศึกษาไทย เพื่อเป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม”

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง

สำหรับโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ได้แบ่งการดำเนินโครงการเป็นสองระยะ โดยระยะที่ 1 ในช่วง 5 ปีแรกของโครงการฯ ได้เน้นการปรับใช้โมเดลสะเต็มศึกษาที่สำเร็จในต่างประเทศมาพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียนทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา จากกว่า 700 โรงเรียน รวมกว่า 13,000 คน ให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็ม รวมถึงมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งสิ้นกว่า 3,100,000 คน โดยความสำเร็จดังกล่าว ได้ขยายผลสู่การดำเนินงานในระยะที่ 2 โดย ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) พร้อมมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง สู่การสร้างความยั่งยืนในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งตลอดทั้งโครงการฯ ได้บรรลุผลสำเร็จในการบูรณาการสะเต็มศึกษากว่า 835 โรงเรียน รวมถึงมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ กว่า 3,300,000 คน

ดร. กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของการจัดงาน Southeast Asian STEM Education Fair & Exposition 2023 พร้อมเล่าถึงความสำเร็จของโครงการฯ ในระยะที่ 2 ว่า “ความมุ่งมั่นจากทุกหน่วยงานพันธมิตรกว่า 236 องค์กร ส่งผลให้การดำเนินโครงการฯ เกิดผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม โดยเรามุ่งเสนอผลลัพธ์ต่อผู้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพสถาบันผลิตและพัฒนาวิชาชีพครูในโครงการ STEP เพื่อปลดล็อกยกระดับการผลิตครูมืออาชีพให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ ริเริ่มโครงการนำร่องด้าน Career Academies พร้อมร่วมมือกับ Thai PBS ผ่านการผลิตรายการภารกิจพิชิตฝัน และร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพยุคใหม่ อีกทั้งยังได้พัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพ และพัฒนาโรงเรียนคุณภาพสะเต็มศึกษา ไปจนถึงเสริมแกร่งเครือข่ายนักวิจัย โดยสำหรับงาน Southeast Asian STEM Education Fair & Exposition 2023 ในปีนี้ เราจัดภายใต้ธีม Preparing a Prosperous Future for the Next Generation สะท้อนให้เห็นเป้าหมายสำคัญในการสร้างอนาคตเยาวชนไทยให้เข้มแข็งผ่านสะเต็มศึกษาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจากการที่ภาคการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายได้เข้าร่วมงานรวมถึงได้เห็นถึงผลความสำเร็จโครงการฯ และการนำเสนอ Showcase จากเยาวชนในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการนำโมเดลสะเต็มศึกษาไปขยายผลสู่ระดับประเทศและภูมิภาค รวมถึงได้สร้างเครือข่ายระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง และสร้างโอกาสพร้อมเพิ่มขีดความสามารถให้เยาวชนต่อไปในอนาคต”

ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน

ผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จแค่ตัวเลข แต่เป็นหลักฐานที่ประจักษ์สู่เป้าหมายการพัฒนาระบบการศึกษาผ่านการยกระดับสะเต็มศึกษา โดยแม้โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จะดำเนินมาเป็นเวลากว่า 8 ปี แต่โมเดลและผลสำเร็จต่างๆ จะเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ทางการศึกษาที่หว่านสู่ระดับประเทศและภูมิภาค ซึ่งในก้าวเดินต่อจากนี้ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED จะนำไปเผยแพร่และนำเสนอให้กับผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค อีกทั้งจะระดมทรัพยากรจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสานต่อโมเดลสะเต็มศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป    

นอกจากนี้ เพื่อขยายผลสู่ระดับภูมิภาค บริษัท เชฟรอนยูเรเชียแปซิฟิกสำรวจและผลิต จำกัด ได้สนับสนุนเงินทุนราว 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาครูสาขาสะเต็มในโครงการ STEP ที่จะช่วยยกระดับครูมืออาชีพให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ โดยขยายพื้นที่ครอบคลุม 5 ประเทศ ทั้งในประเทศไทย คาซัคสถาน อินโดนีเซีย รวมถึงอีก 2 ประเทศในยูเรเชียแปซิฟิค พร้อมทั้งส่งเสริมด้านงานวิจัยและนโยบาย ผ่านการเสริมแกร่งเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพนักวิจัย และผลักดันสู่ในระดับนโยบายของประเทศและภูมิภาค

 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

ด้าน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตว่า “กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านสะเต็มศึกษาผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหลายหน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมเยาวชนให้พร้อมรับมือกับความผันผวนของโลกที่ถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ โดยเราได้ขับเคลื่อนนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษาพร้อมทั้งติดตาม ประเมินความก้าวหน้าและความสำเร็จในการปฏิบัติงาน รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มศักยภาพครูยุคใหม่ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอน CODING ของประเทศไทยในทุกระดับ รวมถึงการเรียนการสอนแบบ “Unplugged Coding” ในลักษณะการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ยังได้กล่าวย้ำความสำคัญของการบูรณาการ “ศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต” (Arts of Life) “ศิลปะในการดำรงชีวิต (Arts of Living)” และ “ศิลปะการทำงานร่วมกัน (Arts of working together)” ไว้ในการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา (STEM) สู่การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานในลักษณะที่เรียกว่า STEAM เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นด้านวัฒนธรรม คุณค่า และอัตลักษณ์ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานของคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นกุญแจและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต”

“เชฟรอนมุ่งยกระดับการศึกษาไทยในระยะยาว เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เห็นผลได้จริง โดยบริษัทฯ เล็งเห็นถึงความท้าทายของปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งปัจจุบันและอนาคต การส่งเสริมกำลังคนให้มีทักษะด้านสะเต็มศึกษาตั้งแต่วัยเรียนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ สอดรับพันธกิจในทศวรรษถัดไปของเชฟรอนที่มุ่งสร้างพลังงานที่สะอาดขึ้น อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ พร้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด โดยพันธกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรเท่านั้น แต่ความสำเร็จของโครงการฯ ในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต” นายชาทิตย์ กล่าวปิดท้าย

โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จะเดินทางสู่ความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้ หากขาดพันธมิตรที่สำคัญทุกภาคส่วนไป ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวตอกย้ำถึง “พลังคน” ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งริเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างการพัฒนาการศึกษา สู่ความสำเร็จระดับมหภาคที่ช่วยขับเคลื่อนโลกอย่างยั่งยืน