วันที่ 11 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanara ระบุว่า ...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 72,460 คน ตายเพิ่ม 379 คน รวมแล้วติดไป 681,351,640 คน เสียชีวิตรวม 6,810,865 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 81.32 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.73
...อัพเดตสายพันธุ์ระบาดในอเมริกา
ล่าสุด US CDC ได้นำเสนอข้อมูลการระบาดในอเมริกาช่วง 5-11 มีนาคม 2566 พบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นั้นครองสัดส่วนสูงราว 90%
ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ พบน้อยมาก อาทิ BQ.1.1 เหลือน้อยกว่า 5%
...อัพเดตความรู้โควิด-19
งานวิจัยใหม่ๆ เผยแพร่ออกมาทุกวัน โดยพยายามศึกษากลไกที่อธิบายปัญหา Long COVID ที่เกิดในระบบต่างๆ ของร่างกาย
1. งานวิจัยจากประเทศจีน โดย Yang J และคณะ ชี้ให้เห็ฯว่า เอนไซม์ Protease ของไวรัส SARS-CoV-2 นั้น ได้รับการศึกษาในห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่าสัมพันธ์กับกลไกการเป็นพิษต่อเซลล์ในระบบประสาท (neurotoxicity) ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติทางสมอง ความคิดความจำ และอื่นๆ ที่พบในภาวะ Long COVID ของคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้
2. Clemens DJ และคณะจาก Mayo Clinic ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่า ส่วนเปลือกนอกของไวรัส SARS-CoV-2 นั้นมีความสัมพันธ์กับกลไกการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และส่งผลให้เกิดการนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การตั้งสมมติฐานว่าน่าจะช่วยอธิบายปัญหาโรคหัวใจชนิดต่างๆ ของผู้ป่วย Long COVID ไม่ว่าจะเป็นการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) รวมถึงการเสียชีวิตกระทันหันจากความผิดปกติของหัวใจ (Sudden cardiac death)
...หากติดตามข่าวความเคลื่อนไหวทั่วโลกในปีนี้ จะพบว่า หลายต่อหลายประเทศหันมาทำการวิเคราะห์เรื่องจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นในรอบสามปีที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า excess mortality โดยหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าจำนวนเสียชีวิตส่วนเกินนั้นมีจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั้งในแง่การส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตโดยตรงแต่ไม่ได้รายงานด้วยข้อจำกัดบางอย่าง และที่การติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้โรคประจำตัวต่างๆ รุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การเสียชีวิต
ในยามที่โรคระบาดยังคงอยู่ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ทั้งนี้ความรู้ทางการแพทย์จนถึงปัจจุบันนั้นชี้ให้เห็นชัดเจนว่า โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก การติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ติดแต่ละครั้งนั้นทำให้ป่วยได้ ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ได้
ภาวะทุพพลภาพ ถูกบั่นทอนสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันนั้น สำหรับหลายต่อหลายคนย่อมตระหนักดีว่าทรมาน และส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ตัวผู้ป่วย แต่หมายรวมถึงครอบครัว และคนใกล้ชิด รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมา
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
ปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน ที่ทำงาน ที่กินดื่ม ที่เที่ยว ให้ระบายอากาศให้ดี
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ทั้งโควิด-19 และ PM2.5
อ้างอิง
1. Signal transduction and targeted therapy. 9 March 2023.
2. PLOS ONE. 8 March 2023.