วันที่ 10 มี.ค.66 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม แก่วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ในการดำเนินโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่ากะปิขัดน้ำด้วยการพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์” ภายใต้แผนงานวิจัยการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2565 โดยมี นายชาญชัย แฮวอู เป็นหัวหน้าโครงการฯ และ ดร.ธวัชไชย ลิ้มสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์กะปิขัดน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าและการจำหน่ายเชิงพาณิชย์
ดร.ธวัชไชย ลิ้มสุวรรณ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า “กะปิ” เป็นเครื่องปรุงรสของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมของเมนูอาหารไทยไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกกะปิ ข้าวผัดกะปิ กะปิหวาน หมูผัดกะปิ ผัดสามหอม และแกงต่าง ๆ ลักษณะการทำกะปิจะมีหลายสูตรและมีกะปิซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรียกว่า “กะปิขัดน้ำ” เป็นกะปิที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคอย่างหลากหลาย “การทำกะปิขัดน้ำเป็นกรรมวิธีโบราณ คือการนำกะปิที่ได้อัดใส่ไห หรือโอ่งให้แน่น ปิดด้วยใบตาลป้องกันสิ่งสกปรก และขัดด้วยไม้ไผ่นาน 5-6 เดือน กลิ่นจะหอมและเก็บได้นานจึงทำให้ราคาของกะปิขัดน้ำจะสูงกว่าแบบไม่ขัดน้ำประมาณ 50-100 บาทต่อกิโลกรัม จากการศึกษาวิจัยการผลิตกะปิแบบขัดน้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า แต่ละท้องที่มีขั้นตอนและวิธีการผลิตกะปิที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร
คณะผู้วิจัยจึงได้ดำเนินโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่ากะปิขัดน้ำด้วยการพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์” ภายใต้แผนงานวิจัยการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2565 โดยวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการดำเนินงาน คณะผู้วิจัยได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการผลิตกะปิมาขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กะปิที่มีคุณภาพมีบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดเหมาะกับการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยนำความรู้จากการศึกษาวิจัยมาสังเคราะห์เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปที่ส่งผลต่อปริมาณการผลิต คุณภาพ การเก็บรักษาและราคาจำหน่าย
นางสาวจุไรรัตน์ นิลเวช เลขานุการประธานกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเลบ้านบางหมก กล่าวเสริมว่า องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. นั้น ประกอบด้วย การพัฒนากระบวนการผลิตและใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและปัจจัยพื้นฐานการผลิตตั้งแต่ การเลือกชนิดกุ้ง กระบวนการผลิตกะปิแบบขัดน้ำ, การแปรรูปและการบรรจุภัณฑ์ทั้งบรรจุภัณฑ์แบบบรรจุถุงพลาสติก แบบกระปุก แบบหลอด แบบผงบรรจุชอง และการแปรรูปกะปิเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผลิตจากกะปีเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และการส่งเสริมและพัฒนาการค้าการตลาดเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถผลิตได้มากขึ้น กะปิมีคุณภาพและลดต้นทุนการผลิต สามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยได้นำองค์ความรู้จากโครงการฯ ถ่ายทอดให้กับกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเลบ้านบางหมก ตำบลคลองฉนาก อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้วิจัยได้สร้างเครื่องตำกะปิแบบครกกระเดื่อง ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องบรรจุกะปิแบบหลอดและแบบกระปุก เพื่อให้สมาชิกกลุ่มอาชีพฯ สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ในกระบวนการผลิตจึงได้เลือกกลุ่มนี้ในการขยายองค์ความรู้ให้กับสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่เพื่อส่งเสริมรายได้และผลิตภัณฑ์ส่งให้กับกลุ่มวิสาหกิจในปริมาณที่เพียงพอต่อการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจผลิตภัณฑ์กะปิขัดน้ำ สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเลบ้านบางหมก ตำบลคลองฉนาก อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 099-1942491