บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

วัฒนธรรมบ้านใหญ่ของไทยเป็น soft power ได้หรือไม่

มีประเด็นฮอตโซเชียลในช่วงที่บ้านเมืองสับสนในตัวตนมาว่ากัน เพราะมีสงครามย่อยทางความคิดเกิดขึ้น ไม่ได้ค่อนขอดขอเริ่มด้วย “วัฒนธรรมบ้านใหญ่” อาจถือเป็น “Soft Power” ได้ แต่เป็น soft power ด้านลบ เทียบกับอดีตเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้(จีน) เจ้าพ่ออัลคาโปน มาเฟีย (อิตาลี) ยากูซ่า (ญี่ปุ่น) อั้งยี่ (ไทยสมัยร.3-5) ปัจจุบันมีแก๊งกุมารจีน จีนเทา (5 แก๊ง) คอลเซ็นเตอร์ (แก๊งจีนกักขังหน่วงเหนี่ยวเรียกค่าไถ่ตัดนิ้ว) แก๊งรัสเซีย(พัทยา) แก๊งเยอรมัน รวมซุ้มมือปืนรับจ้าง(ไทย) เป็นต้น ที่เดิมเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทั้งสิ้น

ลองไปค้นหาคำศัพท์สากลมาเทียบเคียงคำว่า บ้านใหญ่ ไม่รู้ว่าฝรั่งเขาใช้คำว่าอย่างไร คงไม่ใช่ Big House ของฝรั่งที่หมายถึง “คุก” (Prison) แต่เดิมนั้น คำว่าบ้านใหญ่ในความหมายของคนไทย ก็คือ “บ้านเมียหลวง” อ้าวงั้น บ้านน้อย บ้านเล็กก็คือบ้านเมียน้อย บ้านกิ๊ก ต่อๆ มาไหงกลายเป็นว่า “บ้านใหญ่” หรือ “การเมืองบ้านใหญ่” เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่หมายถึง นักการเมืองคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่มาอย่างยาวนาน ประมาณว่า ในวงการเมืองใครๆ ก็รู้จักกันในพื้นที่ เพราะ ครองพื้นที่ ครองใจประชาชนประจำจังหวัดมาอย่างยาวนาน เป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น แบบกลุ่มก๊วนที่มีฐานเสียงแน่น “กระแส” ใดๆ ไม่มีผล ของกลุ่มตระกูลผู้นำทางการเมืองในระดับพื้นที่หรือระดับท้องถิ่น ซึ่งมีศักยภาพมักสอบผ่านเลือกตั้ง ส.ส.ในทุกรอบ คำนี้มีนักวิชาการไทยเริ่มใช้กันมาแพร่หลายน่าจะไม่ถึง 20 ปี เพราะเป็นภาพที่สามารถมองย้อนหลังได้จนถึงช่วงสมัยก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 หรือในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 ระยะหลังๆ เริ่มใช้คำนี้ในความหมายที่คนปัจจุบันเข้าใจความหมายกันหนักๆ มีความหมายที่ซับซ้อนขึ้น (complexity) โดยเฉพาะ ในยุค ปี 2553 สงครามความคิดการแบ่งสีเสื้อเป็นพวกๆ สีแดง สีเหลือง กปปส. และ สลิ่ม การ “เกี๊ยะเซียะ” (การสมยอมกัน การประสานประโยชน์กันลงตัว) ในสมัยนั้นเชื่อกันว่า ไม่มีพวกกลาง หรือพวกที่ไม่เอียงข้าง แน่นอนว่าสังคมไทยตั้งแต่ยุคสีเสื้อตกผลึกมาถึงปัจจุบันจึงเหลือเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น เป็น “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายขวา” และ “ฝ่ายคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า เสรีนิยม” ที่อีกฝ่ายสุดแท้แต่จะเรียกว่าเป็นฝ่ายสามนิ้วบ้าง ฝ่ายล้มเจ้าบ้าง ฝ่ายซ้ายดัดจริตบ้าง ซึ่งเป็นไปตามวาทกรรม “ชังชาติ” (Hate Speech) ที่พยายามปลูกฝังกันโดยอีกฝ่ายที่ขาดตรรกะมาอธิบายเชิงเหตุผลที่ถูกต้อง หรือที่เรียกกันว่าเป็น “ตรรกะวิบัติ” (Logical Fallacy) นั่นเอง

นิยามคำว่าบ้านใหญ่ในทรรศนะของผู้เขียน

ขอสรุปว่า “บ้านใหญ่” คือ คนที่ทำอาชีพนักการเมืองแล้วสืบทอดกันเป็นอาชีพต่อๆ กันภายในกลุ่มเครือญาติ จนชาวบ้านรู้จักเป็นการทั่วไป เช่น ส่วนใหญ่มักเริ่มจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มาก่อน แล้วพี่น้องลูกหลานก็ขยับขยายมาเล่นการเมืองระดับจังหวัด นานเข้าก็ถูกทาบทามจากพรรคการเมืองให้ลง ส.ส. กลายเป็น บ้านใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีเหลือน้อยลง ด้วยกระแสโลกโซเซียลของคนรุ่นใหม่ และคนหัวก้าวหน้า ทำให้กลุ่มนักการเมืองบ้านใหญ่สะเทือน แต่อย่างไรก็ตามความเป็นบ้านใหญ่ ด้วยทรัพย์สินเงินทองที่มากมาย ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ยังคงอำนาจได้ เพราะตราบใดที่สังคมไทยยังถือเงินเป็นพระเจ้า ด้วยความเหลื่อมล้ำในชนชั้น ตราบนั้น เงินยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ความคิดในการสร้างรัฐสวัสดิการสังคมยังห่างไกล เพราะรัฐไทยไม่มีทุนพอ ด้วยระบบการผูกขาดสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนระดับล่างได้ลืมตาอ้าปาก

อีกคำที่คู่กันคือคำว่า “อิทธิพล” นั้น หากหมายถึง ผู้มีอิทธิพล ก็คือ เหล่าพวกพ่อค้าสีเทาในพื้นที่ (ไทยเทา) โดยอาจมีบางคนก็สร้างอิทธิพลจากการทำมาหากินแบบเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่บางกลุ่มในเขตนั้นๆ คนพวกนี้มักเป็นนายทุนให้กับนักการเมืองเพื่อแลกกับความคุ้มครองและผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน เงินทอน เงินใต้โต๊ะ เรื่องนี้ว่ากันว่า ลามลึกไปถึงท้องถิ่น ธุรกิจเงินทอนเป็นทุนเลี้ยงตัวของบรรดาเหล่านักการเมืองเหล่านี้ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ก็มีบางส่วนที่ ผู้มีอิทธิพล ผันตัวมาเล่นการเมืองเสียเองเพื่อปกป้องธุรกิจของตน นานวันเข้า ต่อๆ ไปอาจแปรสภาพกลายเป็น “บ้านใหญ่” ก็ได้ ซึ่งแบบนี้อาจมีคนเรียกว่า “เจ้าพ่อ” เพราะมีทั้งทุนทั้งอิทธิพล มันเป็น Soft Power เอกลักษณ์เชิงลบ ที่แน่ๆ ก็คือ กลายเป็นคนใหญ่คับบ้านคับเมืองที่อะไรก็มาต้านไม่อยู่ สังคมไทยเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ลองหันมาคิดกัน มันเป็น negative soft power ที่ผู้คนไม่แยแส เป็นได้เพียงตำนานนิยายปรัมปรา (The myth) ในความหมายของตำนาน ทางลบ มิใช่ตำนานเล่าขานเชิดชู (The legend) ในความหมายของตำนาน ทางบวก

การเมืองบ้านใหญ่ยังมีอยู่ คะแนนเสียงเลือกตั้งรอบปี 2566 จะออกมาแนวใด จากคน Gen ใด

ทำไมต้องมาหาคำนิยามความหมายของคำว่าบ้านใหญ่กัน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าน่าจะยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม 2566 นี้ แม้ว่าแต่เดิมนั้นมีข่าวลือว่าอย่าช้าที่สุดนายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาอย่างช้าในราวต้นเดือนมีนาคม 2566 เพราะคาดหมายวันเลือกตั้งไว้ที่วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 การเลื่อนวันยุบสภาออกไปทำให้วันเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปถึงวันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2566 เพราะในการเตรียมการเลือกตั้งทำให้เหล่าบรรดานักการเมืองต้องวิ่งหาสังกัดพรรคให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณียุบสภา ระยะเวลาลดลงเหลือ 30 วัน ตามเงื่อนไขแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 จากเงื่อนไขระยะเวลาเป็นสมาชิกพรรคดังกล่าว คอการเมืองไทยคงพอนึกอะไรออกได้บ้างว่า มันเป็นเกมการเมืองเพื่อชิงความได้เปรียบโดยแท้ โดยอาศัย “พลังดูด” นักการเมือง “ตัวเก็ง” จากค่ายต่างๆ ให้มาอยู่ในสังกัดให้ได้มากที่สุด ที่น่าจับตามองก็คือ “บรรดานักการเมืองบ้านใหญ่” เพราะการยุบสภา จะทำให้ระยะเวลาสมาชิกสังกัดพรรคการเมืองเพียง 30 วันก็พอ

ท่ามกลางการหาเสียงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ผลพวงจากความเหลื่อมล้ำที่ฝ่ายอำนาจรัฐ ไม่ได้คิดแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างในระยะยาวๆ ชักจะไปกันใหญ่ในอีกทัศนะหนึ่ง รัฐทำบัตรคนจน (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ภายใต้โครงการประชารัฐสวัสดิการ เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง ประมาณ 14.6 ล้านคน ในสมัยรัฐบาล คสช. ที่เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ณ ปัจจุบันมีจำนวนที่สูงถึง 19 ล้านคน คิดเป็น 1/3 ของประชากร ซึ่งรวมถึงนักศึกษาด้วย เพราะนักศึกษาไม่มีรายได้ พรรคการเมืองต่างชิงเสนอนโยบาย เช่น สวัสดิการคนสูงวัย 3,000 บาท เพราะไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยแล้ว (Aged Society) ด้วยจำนวนคนไทย 1/4 ของประชากร (25%) คนอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวนถึง 14% ในขณะที่ญี่ปุ่นไปแล้วกว่า 28.2% อินเดียมีเพียง 6% (ต่ำกว่าไทย 7-8%) นอกจากนี้จากสถิติพบว่า ไทยมีอัตราการเกิดที่ 9 ต่อ 1000 ต่อไปจะลดลงเป็น 7.6 ต่อ 1,000 แต่เดิมอัตราเกิดของไทยสูงถึงปีละ 1 ล้านเศษ ต่อมาการคุมกำเนิดได้ผลลดลงเหลือปีละ 7-8 แสนคน และพบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดของเด็กไทยเหลือเพียงปีละ 4-5 แสนซึ่งมีผลว่า คนรุ่นใหม่ (Generation Z) ก็จะมีน้อยลง น้อยกว่าคน Gen X Gen Y ปัจจุบันมีข้อมูลว่า คน Gen Y หรือ คนยุค Millenniums เกิดระหว่างปี 2523–2543 เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนสูงถึง 32% จากประชากร 66 ล้านคน หรือราว 21 ล้านคน แน่นอนว่าเสียงของคนรุ่นใหม่ Gen Z โดยเฉพาะคนที่จะลงคะแนนเสียงครั้งแรก (New Voters) ในรอบการเลือกตั้งปี 2566 นี้ ด้วยอัตราเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยในช่วงปี 2542-2546 (อายุปัจจุบัน 18-22 ปี) เฉลี่ยปีละ 7-8 แสนคน รวมกันในช่วงอายุ 4 ปี จำนวน 2.8-3.2 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อย พลังน้อย เพราะคน Gen Baby Boomer ยังมีจำนวนที่มากกว่า กระแสพลังเปลี่ยนสังคมแบบกลับยังไม่มากพอที่จะไปกลบลบกันได้ ฉะนั้นพลังสังคมปัจจุบันจึงอยู่ที่คน Gen Y ที่จะชี้ขาดการเลือกตั้งในครั้งนี้

ความร่อยหรอหมดไปของทรัพยากรท้องถิ่น สังคมต้องหันมาหาธรรมชาติ

พลังงานของโลกกำลังหมดลดลง ต้นตอแห่งสงครามก็คือ การแย่งชิงแหล่งพลังงาน และอาหารของโลกทั้งสิ้น การหวังครอบครองพื้นที่ของฝ่ายอำนาจล้วนมุ่งไปที่ทรัพยากรเอาไว้มาบริโภคทั้งสิ้น เกิดสัญญาณเชิงบวกเชิงลบที่น่าศึกษา ย้อนไปดูเรื่องนวัตกรรมไทย Life Style คำที่ติดหน้าห้างโรบินสันไทย เมื่อเกือบสองปีผ่านมา น่าจะหมายถึงการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์เรียบง่าย เทียบเมืองไทยก็เหมือนฝรั่ง เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยี ภาคการผลิตกันมาก เมื่อมาถึงจุดอิ่มตัว ผู้คนก็หันไปในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องสุขภาพ ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่คนรุ่นหลังๆ ต้องมีภาระในการดูแลคนสูงวัยที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นด้วย หลักสูตรการศึกษาการบริบาลดูแลสุขภาพ (Care Giver) ผู้สูงวัยจึงจำเป็น การโหยหาสิ่งแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ป่า ภูเขา ทะเล รวมศาสนสถาน ศิลปกรรมสิ่งปลูกสร้าง สวนสาธารณะ จึงเป็นที่หมายปองของมนุษย์ทุกชาติ ด้วยงบประมาณจัดสรรให้หน่วยงานที่มากขึ้น บรรดาหน่วยงานราชการไทย เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่ก็มีข่าวมีเหตุทุจริตเช่นกัน การใช้งบประมาณก่อสร้างสวนสาธารณะ หรือแหล่งรวมมรดกโลก ก็มีข่าวส่อไปในทางทุจริต เอกชนในภาคอีสานจึงมีอาชีพล้อมต้นไม้ (บอนต้นไม้) ขุดขนไปขาย เป็นล่ำเป็นสัน

รัฐรวมศูนย์ที่ถูกดึงไปอยู่ภายใต้กลุ่มอีลีทผู้ครองอำนาจ

อำนาจรวมศูนย์รัฐไทยที่ถูกดึงไปอยู่ภายใต้กลุ่มอีลีทผู้ครองอำนาจ (Elite) ด้วยไทยเป็นสังคมครอบครัวขยาย (Extended or Joint Family) เป็นครอบครัวใหญ่ คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก ครอบครัว 3 รุ่นขึ้นไป คือ พ่อ แม่บุตร และปู่ย่า ตา ยาย หรืออาจมีญาติคนอื่นอาศัยอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ครอบครัวเดี่ยว (Single Family or Nuclear Family) เป็นครอบครัวของคนในสังคมเมืองหลวงมีขนาดที่เล็กลงกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวซึ่งประกอบด้วยสามีภรรยาและบุตร เป็นครอบครัวขนาดเล็กประกอบด้วยพ่อแม่ลูก หรือพี่น้องหรือญาติไม่เกินสองรุ่นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เช่นดังสังคมญี่ปุ่น ทำสังคมไทยให้เอื้อต่อ “วัฒนธรรมแบบบ้านใหญ่”

ในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมามีข้อเสนอจากกลุ่มหัวก้าวหน้า และคนรุ่นใหม่ชูประเด็น อปท. ให้เป็นรูปแบบ “จังหวัดปกครองตนเอง” ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยมีความจำเป็นต้องลดบทบาทของส่วนกลางลง ซึ่งรวมถึงการลดบทบาทของ “ภูมิภาค” ลงด้วย มี อปท.ใน 2 ระดับ (Tier) คือ (1) อปท. ระดับบน และ (2) อปท.ระดับล่าง เพราะ ตามหลักการบริหารถือว่า “ภูมิภาค” ก็คือติ่งหนึ่งของส่วนกลางนั่นเอง โดยการลดบทบาทให้เป็นไปในรูปของหน่วยงาน “ที่ปรึกษา” (Staff) หรือเป็น “พี่เลี้ยง” “ผู้ประสานงาน” มิใช่ “หน่วยงานหลัก” (Line) ในการดำเนินงาน โดยเปลี่ยนเน้นบทบาทในการดำเนินงานให้แก่ ท้องถิ่น หรือ อปท. ดำเนินการแทน ซึ่งไม่จำเป็นต้องยุบภูมิภาคหรือยุบภูมิภาคก็ได้ ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งในระยะหลังๆ เช่นประเทศญี่ปุ่น กลับเห็นดีว่าท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมีขนาดเล็ก ท้องถิ่นอาจไม่จำเป็นต้อง “ยุบรวม หรือควบรวมกัน” (Merging or Amalgamation) ก็ได้ เพราะยังมีราชการส่วนกลางเหลืออยู่ และการยุบภูมิภาคทั้งหมดอาจไปกระทบต่อฐานอำนาจของ “การปกครองท้องที่” ที่ฝ่ายอำนาจรัฐยังเห็นว่าจำเป็น และการบริหารจัดการพัฒนาท้องถิ่น (Development Administration) ก็ไม่จำต้องเป็นแบบ “เสื้อโหลสำเร็จรูป” (One size fits all) เพราะท้องถิ่นมีความหลากหลาย มีบริบท มีทรัพยากร มีต้นทุน มีประวัติศาสตร์ มีนวัตกรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในการจัดบริการสาธารณะ (Public Service) และกิจกรรมสาธารณะ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน หรืออาจกล่าวได้ว่า แต่ละท้องถิ่น แต่ละท้องที่มี Soft Power ของตนเองที่หลากหลายนั่นเอง

อย่างไรก็ตามในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทิศทางการกระจายอำนาจหาได้คืบหน้าไม่ ยังคงวนลูปเดิม ด้วยกระแสความเห็นต่างแบบเดิมๆ โดยมีฝ่ายอำนาจรัฐเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยปล่อยข่าวการขึ้นเงินค่าตอบแทนสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พร้อมทั้งมีนโยบายให้ยกฐานะ “อบต.ให้เป็นเทศบาล” ข่าวนี้ทำให้คู่ปรับท้องถิ่น คือกลุ่มสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านเรียกร้องเสนอขอขึ้นเงินค่าตอบแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วยเช่นกัน (ข่าว 3 มีนาคม 2566)

นโยบายผ้าไทย ภายใต้การส่งเสริมโดยระบบรัฐราชการ ก็สั่งมาจากส่วนกลาง แทนที่ท้องถิ่นจะมีเอกภาพที่ดำเนินการได้เองอย่างอิสระ ไม่เกี่ยวกับส่วนกลาง เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ้าไหม ผ้าไทย ยังมีการสนับสนุนส่งเสริมในกลุ่มได้ดี ต่อมางานแผ่วจึงตกไปเป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐ การกำหนดให้ราชการส่งเสริมผ้าไทย แต่งกายด้วยผ้าไทย จากสัปดาห์ละ 1 วัน ก็กลายเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน ล้วนมาจากกรอบแนวคิดของส่วนกลาง ที่จริงในทัศนะของท้องถิ่นจะผ้าอะไร ก็ล้วนผลิตในไทยทั้งสิ้น ของให้เป็นนวัตกรรมของท้องถิ่นก็เพียงพอ และใช้ได้แล้ว ผ้าทอมือที่รัฐให้ซื้อสวมใส่ ล้วนราคาแพง การรักษาดูแลยุ่งยาก กลับเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอีกต่างหาก แนวคิดประหยัด เรียบง่ายจึงใช้ไม่ได้ในข้าราชการท้องถิ่น ที่ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในสังคมมากขึ้นตามภารกิจนโยบายส่วนกลางกำหนด ทำไมราชการไทย จึงมากำหนด บังคับให้คนท้องถิ่นต้องแต่งกาย เป็นเงินส่วนตัวทั้งนั้น ที่ไม่ใช่ ชุดทหาร ตำรวจ ที่ยังพอใช้เงินแผ่นดินซื้อได้

มองในมุมกลับ รำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย การดูหนังไทย อาหารไทย มันเป็นเรื่องปกติ (New normal) ไม่น่าจะยุ่งยากปานนั้นเลยหรือ ที่ต้องมาช่วยกันอุดหนุน สร้างภาพเอกลักษณ์ไทย สร้างอีเวนต์ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วในเบื้องลึกๆ ของความเป็นไทยๆ เหล่านี้มันก็คือ Soft Power ดีๆ นี่แหละ มิใช่การมาส่งเสริมรณรงค์กันเพียงฉาบหน้า มิใช่เนื้อแท้ อยู่ที่สำนึกมากกว่า เพราะหากผู้นำ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่ทำตัวอย่างที่ไปสั่งระดับล่างทำกันแบบนี้ มันจะพัฒนาเจริญได้อย่างไร เช่น คนระดับบนยังมีสำนึกตรงข้ามกับที่สั่งการระดับล่าง ยังบินไปเที่ยวดื่มกินของนอกต่างประเทศด้วยเงินหลวงกันอยู่

ข่าวการยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล เพ้อฝันไปหรือไม่

ที่เพ้อฝัน หมายถึง การทำไม่ได้ เหมือนคนเพ้อที่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เพ้อ เพราะการยกฐานะ อบต. มันมีปัจจัยเหตุผลหลายๆ อย่าง มีทั้งคนดึง คนดัน คนห้าม คนต่อต้าน คนสนับสนุน มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ที่หลากหลายกลุ่ม และที่มีกระบานการขั้นตอน ไม่ได้ยกฐานะกันเฉยๆ เช่น การตรวจสอบแนวเขต การขอความเห็นชาวบ้าน (ประชาพิจารณ์) เพราะหากว่ายกฐานะ อบต.กันง่ายจริงตามดังว่า ทำไมไม่ยกฐานะ โดยทยอยยกฐานะไปเรื่อยๆ ตามที่ สปช.และ สปท.เคยเสนอไว้เมื่อปี 2559-2560 ก็ได้ แต่ฝ่ายอำนาจกลับไปยกเลิกข้อเสนอของ สปท.ทิ้งเสีย แล้วเพิ่งกลับมาคิดได้เมื่อหมดสมัยรัฐบาลที่เหลือเวลาอีกเพียงสองเดือนเศษ ไม่เข้าใจ แน่ใจหรือว่า จะยกฐานะ อบต.ทันทั้งหมด 5,300 แห่งได้อย่างไร หรือเป็นราคาคุยหาเสียง

ในอดีตการจัดตั้ง อปท.จัดตั้งขึ้น ก็เพื่อจัดการสุขาภิบาลให้ดี เช่น การตั้งสุขาภิบาลและเทศบาล มีการเก็บกวาดสิ่งโสโครก ขยะ และต่อๆ มางานอื่นก็ตามมา เช่นงานเบ้ (รับใช้หน่วยเหนือ) ที่หน่วยงานรัฐส่วนกลางเขาไม่ทำกัน เปรียบเหมือนผลไม้หกเสียเรี่ยราดล้นจากมือคนส่วนกลางจึงหล่นมาหาท้องถิ่นประมาณนั้น มีผู้นำท้องถิ่นจำนวนน้อย ที่จะส่งผ่านงานหรือภารกิจท้องถิ่นให้ไปถึงมือประชาชนจริงๆ ตามหลักการหรือปรัชญาการปกครองท้องถิ่น ส่วนใหญ่แค่เพียงคำกล่าวอ้าง หรือเฉพาะในประชาชนบางกลุ่มที่กล่าวถึง วงศ์วาน ย่านเครือเถาญาติของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

จากเรื่องจับฉ่ายสัพเพเหระก็เอามาผูกเป็นเรื่องให้อ่านกันก็ยังได้นะ ลองอ่าน หวังว่าคงไม่มั่วนะ สังคมไทยยังตามหลังสังคมโลกอยู่หลายขุม ที่สามัญชนต้องทำใจ