คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย

การก้าวแซงขึ้นหน้าทางด้านเทคโนโลยีของจีนที่ขณะนี้เพิ่มเหนือชั้นขึ้นมากกว่าสหรัฐอเมริกา ได้เกิดขึ้นตามที่เคยมีการคาดการณ์มาแล้วหลายปีก่อนหน้านี้

จากรายงานครั้งล่าสุดของสถาบันคลังสมองชื่อดัง “สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย” (Australian Strategic Policy Institute หรือชื่อย่อว่า ASPI) เปิดเผยออกมาว่า จีนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลก!!!

 และจากการศึกษาข้อมูลใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลออสเตรเลียและจาก “Global Engagement Center” ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ

จากการเปรียบเทียบด้านเทคโนโลยีที่ครอบคลุมทั้งหมด 44 ประเภท ปรากฏว่าเทคโนโลยีของจีนแซงขึ้นหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้วถึง 37 ประเภท

สำหรับเทคโนโลยีที่จีนแซงขึ้นหน้าสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้วนั้น มีอาทิ ด้านความมั่นคงแห่งชาติ ด้านอวกาศ วิทยาการหุ่นยนต์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์  โดรน แบตเตอรี่ไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ เซลล์แสงอาทิตย์ การสกัดแร่ธาตุที่สำคัญ ด้านผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

และยังมีแขนงที่สำคัญสุดๆนั่นก็คือ “ด้านปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งขณะนี้จีนก็กำลังได้เปรียบสหรัฐฯอย่างเห็นได้ชัด!!!

ขณะนี้จากรายงานดังกล่าวปรากฏว่าสหรัฐอเมริกายังเป็นฝ่ายนำหน้าจีนทางด้านเทคโนโลยีแค่เพียง 7 ประเภทเท่านั้น อาทิเช่น วัคซีน คอมพิวเตอร์ควอนตัม และระบบปล่อยอวกาศเป็นต้น

ปัจจัยหลักๆที่ทำให้จีนสามารถก้าวกระโดดแซงขึ้นหน้าสหรัฐฯไปได้หลายขุมแล้วนั้น มิได้เป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด สืบเนื่องมาจากที่ผ่านมาจีนเพียรพยายามบากบั่นมุมานะวางรากฐานของตนเอง เพื่อเข้าครองตำแหน่ง “มหาอำนาจชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

การแซงขึ้นหน้าทางด้านเทคโนโลยีของจีนเหนือกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างน่าทึ่งนี้ มาจากการมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านานของ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง”เพื่อต้องการจะให้จีนมีศักยภาพที่มั่นคงสามารถพึ่งพาตนเองได้

และเมื่อเดือนตุลาคม ปีค.ศ.2022 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญคณะหนึ่งให้ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ ทางด้าน ปัญญาประดิษฐ์  การบินและอวกาศ

อย่างไรก็ตามขณะนี้จีนได้กลายเป็นชาติมหาอำนาจผูกขาดทางด้านเทคโนโลยีไปแล้ว 8ประเภทด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวัสดุ ด้านการผลิตระดับนาโน ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย สำหรับพลังงานและชีววิทยาสังเคราะห์

อนึ่งตามรายงานยังระบุต่อไปว่า ขณะนี้จีนก็กำลังมีความก้าวหน้าทางด้านขีปนาวุธที่มีความเร็วกว่าเสียง ซึ่งเรื่องนี้มิได้สร้างความแปลกใจให้กับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯแต่อย่างใด!!!

นอกจากจีนจะแซงขึ้นหน้าสหรัฐฯทางด้านเทคโนโลยีไปแล้วนั้น แต่กลับปรากฏว่ายังมีกลุ่มประเทศประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร อินเดีย เยอรมนี และญี่ปุ่น ที่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าก่อนหน้านี้เคยมีวิวัฒนาการนำหน้าแต่ตอนนี้กลับก้าวตามหลังจีนอยู่ห่างๆ

คราวนี้ลองหันมาดูสิ่งที่ถือว่าเป็นมันสมองช่วยพัฒนาขับเคลื่อนให้จีนสามารถก้าวหน้าไปได้ไกล ซึ่งนั่นก็คือ เหล่าบรรดานักศึกษาจีนที่เดินทางเข้าไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา

หากย้อนหลังไปวิเคราะห์ถึงกลุ่มนักศึกษาจีนที่เข้าไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ขณะนั้นจำนวนของนักศึกษาจีนที่เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯมาเป็นอันดับหนึ่งจากจำนวนนักศึกษานานาชาติทั้งหมดกว่าเก้าแสนคน ถือเป็นจำนวนนักศึกษาจีนร่วม 30% โดยเมื่อปีการศึกษา 2010 มีนักศึกษาจีนในสหรัฐอเมริกาเพียงแค่ 157,558 คนแต่ตามสถิติของ Institute of International Education ที่มีความเชี่ยวชาญในการรวบรวมนักศึกษานานาชาติในสหรัฐฯได้เปิดเผยว่าปีการศึกษา 2021-2022 มีนักศึกษานานาชาติทั้งหมด 763,760 คน และเป็นนักศึกษาจีน 317,299 คน

อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาจีนเข้าไปศึกษานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯแทบทั้งสิ้น ที่พวกเขาเข้าไปศึกษาเล่าเรียนศึกษาตั้งแต่ระดับอนุปริญญา เรื่อยไปจนถึงปริญญาเอกถึงระดับโปสต์ดอกเตอร์ และวิชาเอกที่นักศึกษาจีนนิยมศึกษานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นหนักไปทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านบริหารธุรกิจและวิชาด้าน “STEM”

ส่วนมหาวิทยาลัยชั้นนำที่นักศึกษาจีนนิยมเข้าไปศึกษา มีได้แก่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พรินส์ตัน นิวยอร์กยูนิเวอร์ซิตี  มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ยูเอสซี จอห์นส์ ฮอพกินส์ คอร์เนลล์ เอ็มไอที ยูซีแอลเอ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เยล มหาวิทยาลัยนอร์ทเตอร์เดม มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัยมิชิแกน เบอร์คเล่ย์ เป็นต้น

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินดีแอนา ซึ่งมีความเป็นเลิศทางด้านวิศวะกรรมศาสตร์ ของสหรัฐฯและของโลก โดยยังมีศิษย์เก่าชื่อ “นีล อาร์มสตรอง”นักบินอวกาศชื่อก้องโลกคนแรกที่ก้าวเท้าลงเหยียบดวงจันทร์ ซึ่งเขาได้กลายเป็นแรงกระตุ้นดึงดูดนักศึกษานานาชาติเข้าไปศึกษาที่นั่นถึง 9,452 คนของปีการศึกษา 2022 โดยมีนักศึกษาอินเดีย 2,698 คนและนักศึกษาจีน 2,359 คน และมหาวิทยาลัยเพอร์ดู แห่งนี้ก็ยังเป็นพันธมิตรอันดีเยี่ยมทางด้านวิชาการกับ “มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่” มาแล้วนานร่วมสิบปี!!!

เท่ากับว่าประเทศสหรัฐฯเป็นที่นิยมชมชอบต่อชาวจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งเห็นได้เด่นชัดว่า ตามเมืองใหญ่ของสหรัฐฯจะมีไชน่าทาวน์เปิดให้บริการแก่ชุมชนชาวจีนผุดขึ้นมาแทบทุกเมือง

เพราะฉะนั้นสามารถวิเคราะห์ได้ว่า หากคนจีนไม่ชื่นชอบแล้วละก็ คงจะไม่เดินทางดั้นด้นไปศึกษาและทำมาหากินในสหรัฐฯอย่างแน่นอน เพราะจะเห็นได้จากมีนักศึกษาจีนที่เดินทางไปศึกษาในรัสเซียมีเพียง 32,600 คนเท่านั้น (ที่มา:  Study in Russia:  Official website about higher education for international students, April 29, 2022)

และดูเหมือนว่าในแต่ละปีจะมีนักศึกษาจีนร่วมห้าหมื่นคนตัดสินใจเลือกจะลงรากฐานพำนักอาศัยปักหลักทำงานตามบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ

ในทางกลับกันขณะนี้ก็มีนักศึกษาชาวอเมริกันเดินทางไปศึกษายังประเทศจีนกว่าสามแสนคนเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดกว่านักศึกษาชาติอื่นๆด้วยซ้ำไป

ในเมื่อนักศึกษาอเมริกันและนักศึกษาจีนต่างก็เดินทางไปศึกษาเสมือนสลับแลกเปลี่ยนกันนั้นเท่ากับว่า รู้เขารู้เรา

ทั้งนี้นักศึกษานานาชาติที่เข้าไปศึกษาในสหรัฐฯอันดับรองจากนักศึกษาจีน ก็คือ นักศึกษาจากอินเดีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งทั้งสามประเทศนี้ยังได้กลายเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน เพราะนักศึกษาของประเทศเหล่านี้ เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็มักจะกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อนำวิทยาการใหม่ๆไปพัฒนาประเทศ

สำหรับจำนวนของนักศึกษาไทยที่เข้าไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาเมื่อสามสิบปีก่อน มีกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันคน ติดอยู่ในอันดับที่ 15 แต่ขณะนี้มี 4,960 คนเท่านั้น ซึ่งนครลอสแอนเจลิส นับเป็นชุมชนชาวไทยที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศ

เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมแล้ว เป็นที่แน่ชัดว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกากับจีน กำลังเปิดฉากทำสงครามทางด้านเทคโนโลยีกันอย่างเข้มข้น แต่คงเป็นแค่เพียงต่างฝ่ายต่างแอบมองดูท่าทีสังเกตชั้นเชิงต่อกันเท่านั้น ยังมิได้เป็นปรปักษ์มุ่งประหัตประหารกันแต่อย่างใด!!!

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นการที่สหรัฐฯมีความแข็งแกร่งตราบเท่าทุกวันนี้ ก็เพราะมีความโดดเด่นหลักๆอยู่ที่เทคโนโลยี แต่น่าหวาดเสียวที่ขณะนี้จีนกำลังวิ่งตามต้องการจะแซงขึ้นหน้ามาแล้วติดๆแบบได้ยินเสียงหายใจรดต้นคอ ส่วนการแข่งขันทางด้านนวัตนกรรมระหว่างสหรัฐฯและจีน ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกไปเป็นของผู้บริโภคทั่วโลกอย่างเราๆท่านๆละครับ