หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ มีมติเอกฉันท์ให้ยื่นฟ้อง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ คดีจัดซื้อเครื่อง GT200 และ Alpha6 ในส่วนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่มีการจัดซื้ออย่างน้อย 4 สัญญา โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ถูกชี้มูลการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ซึ่งถือเป็นการกลับมติของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ก่อนนี้เห็นควรไม่ฟ้อง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เพราะเห็นว่าหลักฐานค่อนข้างห่างตัว แต่การมีมติดังกล่าวของ ป.ป.ช. คุณหญิงพรทิพย์ และผู้เกี่ยวข้องยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
"GT200" คืออะไร...? ต้องย้อนกลับไป พ.ศ.2544 บริษัท โกลบอล เทคนิคัล จากสหราชอาณาจักร ได้ผลิต “เครื่องตรวจจับสสารระยะไกล” หรือ GT200 ออกมาวางขาย โดยบริษัทอ้างว่าเครื่องนี้ใช้ระบบแม่เหล็กขั้นสูง สามารถตรวจจับ "วัตถุระเบิด ยาเสพติด ยาสูบ งาช้าง กระสุนปืน" ในระยะที่ไกลมากๆได้
ยิ่งไปกว่านั้น GT200 ยังมีนวัตกรรมขั้นสูง คือไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ใดๆ ทั้งสิ้น โดยตัวเครื่องสามารถดึงพลังงานไฟฟ้าสถิตจากตัวผู้ถืออุปกรณ์ ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องชาร์จไฟ ถ้าหากเสาอากาศแบบหนวดกุ้งที่อยู่บนเครื่องชี้ไปทางไหน ก็มีแนวโน้มว่า เป้าหมายที่เป็นระเบิด หรือยาเสพติด จะอยู่ตรงจุดนั้นด้วย
สำหรับ GT200 ตัวเครื่องจะมีสีดำทำจากพลาสติกบนตัวเครื่องที่จะมีช่องเล็กๆ ให้เสียบ "เซ็นเซอร์การ์ด" เข้าไปได้ หากต้องการค้นหาระเบิด ก็เอาเซ็นเซอร์การ์ดชื่อ "ตรวจระเบิด" เสียบเข้าไป หรือถ้าเอาเซ็นเซอร์การ์ดที่เขียนว่า "ยาเสพติด" เสียบเข้าไป เจ้า GT200 ก็จะเปลี่ยนเป็นเครื่องตรวจยาเสพติดแทน
หลังจากการปรากฏตัวของ GT200 ยังพบว่า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกันในชื่อ ADE 651 และ ALPHA 6 ทยอยออกมาวางขายในตลาด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา มีรูปแบบคล้ายกัน คือมีที่จับ, มีเสาอากาศหนวดกุ้ง และ มีช่องใส่เซ็นเซอร์การ์ด จนมีหลายประเทศ ซื้อไปใช้งาน อาทิ เม็กซิโก และฟิลิปปินส์
ต่อมา พ.ศ.2548-2552 มีการเปิดเผยโดยสำนักข่าวอิศรา ที่อ้างหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า หน่วยงานในประเทศไทยอย่าง กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กรมราชองครักษ์, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้สั่งซื้อและนำเข้าเครื่อง GT200 เข้ามาเป็นอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุผลใช้เพื่อรักษาและดูแลความปลอดภัย จำนวน 836 เครื่อง รวมเป็นเงิน 759.14 ล้านบาท โดย สตง. ยืนยันว่า การจัดซื้อเครื่อง GT200 ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ความจริงปรากฏ หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และอีกครั้งที่ตลาดสดใน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ทั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ใช้ GT200 ตรวจหาวัตถุระเบิดในพื้นที่ก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่พบระเบิดที่คนร้ายซ่อนไว้แต่อย่างใด
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำการทดสอบเครื่อง ด้วยการลองใช้หาวัตถุระเบิด ผลปรากฏว่า การทดสอบ 20 ครั้ง เครื่อง GT200 บอกตำแหน่งระเบิดที่ถูกต้องได้แค่ 4 ครั้งเท่านั้น คิดเป็น 20% ไม่ต่างอะไรจากการเดาสุ่ม ดังนั้นนายกฯ จึงสั่งให้ทุกหน่วยงานในประเทศ เลิกจัดซื้อ และเลิกใช้งาน GT200 และ Alpha 6 โดยทันที
ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ศาลอังกฤษก็ได้มีคำสั่งให้จำคุก นายเจมส์ แมคคอร์มิค ในข้อหาจำหน่ายเครื่อง GT200 ให้แก่รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าใช้งานได้จริง และสั่งให้ยึดทรัพย์ประมาณ 7.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 400 ล้านบาท) และนำเงินจำนวนนี้ไปชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อเครื่องมือนี้
ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า คดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่อง GT200 และ Alpha 6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวนทั้งหมด 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหาประมาณ 100 ราย ไปแล้ว และส่งเรื่องให้ อสส. ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหาร และตำรวจ และฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทยบางจังหวัด