นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อน สนอ.มีความห่วงใยสุขภาพและอนามัยของประชาชนด้วยอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงควรระมัดระวังความสะอาดรับประทานอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง โรคที่มักพบบ่อยในช่วงหน้าร้อน ดังนี้ 1.โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง อาจมีไข้ หรืออาเจียนร่วมด้วย 2.โรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหาร-น้ำที่ปนเปื้อนเชื้ออาจ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย อาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย

3.โรคบิด เกิดจากการรับประทานอาหาร ผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อบิดปนเปื้อน อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด 4.โรคอหิวาตกโรค เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปนเปื้อน อาการที่สำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าวคราวละมาก ๆ ผู้ป่วยจะอาเจียน กระหายน้ำ กระสับกระส่าย หากเสียน้ำมากผู้ป่วยอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้ 5.โรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อน หรือผู้ที่เป็นพาหะโรคไทฟอยด์ อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร

6.โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่ สุนัข แมว กระรอก กระแต เป็นต้น เมื่อคนได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการปรากฏภายใน 15 - 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยเมื่อถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ 7.โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว