วันที่ 9 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวเชิญชวนประชาชนและบุคคลทั่วไปร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 

ตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า การกำหนด จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86(1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย นั้น

สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เร่งดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูยมีคำวินิจฉัยในการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด กรณีใช้จำนวนราษฎรสัญชาติไทย โดยพิจารณาจากจำนวนราฏฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวน 65,106,481 คน จึงมีจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยประมาณ 162,766 คน ต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้เแทนรษฎรหนึ่งคน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ดำเนินการเผยแพร่ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนทุกจังหวัดทั่วภูมิภาค ไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 4-13 มีนาคม รวมเป็นเวลา 10 วัน ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัด เว็บไซต์ของสำนักงานกกต.ประจำจังหวัด และแฟนเพจเฟชบุ๊ก หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกำหนดจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่รวมผู้ไม่ได้สัญชาติไทย