“บิ๊กป้อม” เยือนกรุงเก่าเยี่ยมชาวอยุธยา หนุนแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง

วันที่ 8 มี.ค.66 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง และแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่คลองท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย 

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็น 1 ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบในหลักการ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยการปรับปรุงระบบชลประทานตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนพระราม 6 ถึง คลองชายทะเล มีการปรับปรุงขุดขยายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง ความยาวรวมประมาณ 490 กิโลเมตร รวมทั้งก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม บริเวณคลองต่างๆ ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น วางแผนดำเนินการไว้ 6 ปี (พ.ศ. 2567-2572) หากสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม./ปี ที่สำคัญจะช่วยบรรเทาอุทกภัยและลดพื้นที่น้ำท่วมได้มากถึง 276,000 ไร่ 

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแผนโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย ซึ่งเป็นแผนระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลาก ด้วยการก่อสร้างคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำของคลองชัยนาท-ป่าสักได้ประมาณ 930 ลบ.ม./วินาที คู่ขนานกับคลองส่งน้ำอีก 130 ลบ.ม./วินาที มีการก่อสร้างเขื่อนพระรามหกแห่งใหม่ทดแทนเขื่อนพระรามหก ที่มีอายุการใช้งานมาเกือบ 100 ปี รวมทั้งก่อสร้างคลองระบายน้ำป่าสัก-อ่าวไทย ที่จะใช้ระบายน้ำต่อเนื่องจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่จะช่วยตัดยอดน้ำหลากในแม่น้ำป่าสักได้ประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอท่าเรือ รวมถึงพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร จนถึงจังหวัดสมุทรปราการอีกด้วย

ในการนี้ พลเอกประวิตร ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้  รวมไปถึงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานเพื่อเตรียมรับฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง