“วันสตรีสากล” หรือ “วันสตรีโลก” 2566 ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1907 (พ.ศ.2450) จากการลุกฮือขึ้นมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมจากนายจ้างที่เอาเปรียบ กดขี่ สาวโรงงานทอผ้า ในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา วันนี้ทีมข่าว “สยามรัฐ ออนไลน์” ขอรวบรวมเกร็ดข้อมูลเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นวันสำคัญของโลก
ประวัติการเรียกร้องใน “วันสตรีสากล 2566”
วันสตรีสากล ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี โดยมีจุดเริ่มต้นสืบมาตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 1869 ภายใต้การนำของนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อว่าซูซาน บี แอนโทนี่ ซึ่งเธอมีจุดหมายเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน โดยเธอเป็นที่จดจำในฐานะนักเคลื่อนไหว และผู้ก่อตั้งสมาคมเพื่อสตรี National Woman Suffrage Association (NWSA) ร่วมกับ เอลิซาเบธ เคดี้ สแตนตัน
ต่อมาในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผู้หญิงกว่า 15,000 คน ได้ออกมาเดินเรียกร้องกลางเมืองนิวยอร์ก เพราะต้องการสิทธิในการเลือกตั้ง และต้องการให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลง ตลอดจนเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องรายได้ของสตรี
กระทั่งในปีต่อมา ได้มีการเรียกร้องให้จัดตั้งวันสตรีสากลขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยเริ่มต้นจากคำประกาศของพรรคสังคมนิยมอเมริกา ก่อนจะถูกผลักดันต่อด้วย คลารา เซทคิน นักการเมืองชาวเยอรมัน ส่งผลให้มีอีก 4 ประเทศชั้นนำ ได้แก่ เยอรมัน ออสเตรีย เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมเฉลิมฉลองวันนี้ด้วย ก่อนจะขยับลำดับมาเป็นการฉลองระดับสากล เมื่อ UN เข้ารับรองวันสำคัญนี้ในช่วงปี 1975 จวบจนปัจจุบัน
กิจกรรมใน “วันสตรีสากล”
สำหรับกิจกรรมที่นิยมทำกันในวันสตรีสากลนั้นค่อนข้างเรียบง่าย โดยเริ่มจากการมอบดอกไม้ให้กัน ซึ่งผู้ชายจะมอบดอกไม้หรือของขวัญให้กับผู้หญิง เพื่อกล่าวขอบคุณการมีตัวตนของพวกเธอ และสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมที่ผู้หญิงกำลังเรียกร้อง โดยดอกไม้ที่นิยมให้กันเป็นพิเศษก็คือ ดอกมิโมซา
นอกจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ จะจัดมุมเพื่อเฉลิมฉลองการต่อสู้ของสตรี ในขณะที่บางหน่วยงานในหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน จะลดวันทำงานในวันพิเศษนี้ให้กับผู้หญิง เพื่อให้เธอได้กลับไปพักผ่อน และใช้เวลาอยู่กับครอบครัว