“สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล ให้ก้าวเดินไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) และเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” อย่างแท้จริง 

 

ทั้งนี้มีแนวทางการดำเนินงาน 4 ประการ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน และมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ประเทศชาติ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ พร้อมปลูกฝัง Innovation Culture รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพภายในของตนเอง และการสร้างวินัยองค์กรที่เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมองค์กร การทำงานเป็นทีมและการสร้างสรรค์องค์ความรู้แบบบูรณาการ 

ซึ่ง สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่สำคัญ ในการสะท้อนมุมมอง และแนวคิดของบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่เฉพาะสายวิชาการ แต่ยังรวมถึงสายสนับสนุนด้วย 

อาจารย์ ดร.ธิติคม พัวพันสวัสดิ์ ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงความเป็นมาและบทบาทหน้าที่สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 26 และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาคณาจารย์ ไว้ในมาตรา 27 มีบทบาทหน้าที่ คือ ให้คำปรึกษา แนะนำ แก่สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือตามแต่อธิการบดีจะมอบหมาย รวมถึงการดูแลมาตรฐานวิชาชีพและให้คำปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี ในด้านวิชาการ และทักษะแห่งวิชาชีพของคณาจารย์ สภาคณาจารย์ ประกอบด้วย สมาชิกประเภทผู้แทนส่วนงาน และผู้แทนทั่วไป และมีการตั้งคณะกรรมการประจำเพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องราวต่างๆ เสนอต่อสภาคณาจารย์ และยังเข้าไปร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้แทนจากสภาคณาจารย์ เพื่อเป็นกระบอกเสียงเพื่อพิจารณานำเสนอ ส่งเสริมด้านการวิจัย วิชาการ ดูเรื่องระเบียบ และข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมของคณาจารย์และบุคลากร ส่งเสริมคุณภาพชีวิตนักศึกษา และความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณาจารย์และนักศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาคณาจารย์ด้านทักษะแห่งวิชาชีพคณาจารย์ คุณธรรมและจริยธรรมของคณาจารย์และบุคลากร เชิดชูและผดุงเกียรติคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเผยแพร่ผลงานและข่าวสารของคณาจารย์ และมหาวิทยาลัย ตลอดจนการดำเนินงานของสภาคณาจารย์ เป็นต้น

ย้ำว่าสภาคณาจารย์ ไม่ได้ดูเฉพาะสายงานวิชาการเท่านั้น แต่ดูแลครอบคลุมบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งสายวิชาการ และสายสนับสนุน เพื่อเป็นตัวแทนในการเสนอแนะ และผลักดันในเรื่องต่างๆ รวมถึงในการประชุมสภาคณาจารย์แต่ละครั้งอาจมีข้อเสนอแนะ หรือมติจากที่ประชุมฯ เสนอต่ออธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย สำหรับในสายสนับสนุน บทบาทหน้าที่ไม่แตกต่างกับสายวิชาการแต่อย่างใด โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในสายงาน และเรื่องที่อยู่ในความสนใจของบุคลากรเกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ความก้าวหน้าในสายงาน ซึ่งหลายแห่งยังคงใช้ชื่อเรียกว่า สภาคณาจารย์ แต่บางแห่งได้เปลี่ยนเป็น สภาอาจารย์และพนักงาน แล้ว 

อาจารย์ ดร.ธิติคม กล่าวอีกว่า กลไกการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในส่วนสภาคณาจารย์พร้อมที่จะก้าวเดินควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะเดียวกันก็จะช่วยเสริมสร้างความสมดุล (Balance) ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ให้ครอบคลุมและครบถ้วน เช่น ในส่วนของอาจารย์ ในเรื่องการเชิดชูอาจารย์ การพิจารณาคัดเลือกอาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์ การเสนอชื่ออาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อรับการพิจารณารางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ รางวัลหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในกับบุคลากรสายวิชาการ ส่วนบุคลากรสายสนับสนุน สภาคณาจารย์ได้จัดอบรมในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในสายงานนั้นๆ  

 

สำหรับทิศทางเป้าหมายในอนาคต สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายก้าวเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) และเป็นปัญญาของแผ่นดิน มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ สนับสนุนทุกด้าน เพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวไปข้างหน้า และในขณะเดียวกันก็ต้องให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล ทุกคนมีความสุข พร้อมที่จะก้าวเดินไปกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยหิดล พร้อมเดินเคียงคู่ไปกับ สภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลักดันให้นโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผลิตบัณฑิต ที่มีคุณภาพเพื่อรับใช้สังคมต่อไป