วันที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 09.30น. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายกรัฐมนตรี ในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ทั่วทั้งโลก

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ.2518) เป็นต้นมา สหประชาชาติ ให้ความสำคัญจัดงานอย่างเป็นทางการ ประกาศให้เป็น"วันสตรีสากล" (International Women's Day) ด้านหนึ่งเป็นวันที่จะเฉลิมฉลอง เพื่อให้สตรี มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในภาคสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เท่าเทียม ที่ยังดำรงอยู่ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก พัฒนาสังคมประเทศ และมีผู้หญิงในหลายประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ สำหรับประเทศไทยจากการเคลื่อนไหว ของเครือข่ายขบวนการแรงงานและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเพศสภาพ และสาขาอาชีพต่างๆ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มากยิ่งขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและมีการออก

ซึ่งกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพของผู้หญิงมากขึ้น อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ผู้หญิงยังคงถูก เอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกมากมายหลายมิติ  วันสตรีสากลในปีนี้ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้หญิง ต้องการให้รัฐบาลบูรณาการแก้ไข ดำเนินการทางนโยบาย กฎหมาย เพื่อปกป้องคุ้มครอง และเยียวยาสิทธิของผู้หญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตามหลักการองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จากสถานการณ์วิกฤติโควิด ที่ส่งผลกระทบให้แรงงานหญิง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องเผชิญการถูกเลิกจ้าง ลอยแพ และการถูกละเมิดสิทธิทางเพศ ถูกเอารัดเอาเปรียบที่รุนแรงเพิ่มเป็นทวีคูณมากขึ้น ความล่าช้า ความยากลำบากในการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อขบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ทั้งช่องว่างของกฎหมายทำให้สูญเสียสิทธิ และขาดโอกาสในการทำงานที่มั่นคง ยั่งยืน ไร้ความเป็นธรรมส่งผลถึงคุณภาพชีวิตทั้งตนเองครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ "ต่อต้านทุนนิยมเสรีกดขี่แรงงาน-หญิง" จึงถูกกำหนดให้เป็นคำขวัญในการรณรงค์วันสตรีสากลเพื่อสะท้อนสภาพปัญหาดังกล่าว และข้อเรียกร้องในวันสตรีสากล ให้เกิดขึ้น คสรท. และ สรส. จึงขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ดังนี้

โดย ข้อเรียกร้องวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ประกอบด้วย 1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่าง ๆ ดังนี้ ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน โดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์ และการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็น คดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ 2. รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100% และให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติ ครม. ที่เห็นชอบ ให้ครบถ้วน 3. รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตรการปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน

ส่วน 4.รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปีเดือนละ 3,000 บาท 5. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนหญิง ชาย และเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม 6. รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี 7. รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 8. รัฐต้องให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33
9. ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับทางการพม่าให้แรงงานสามารถต่อเอกสารในประเทศไทยได้ข้อเรียกร้องนี้ ได้เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานานหลายปี เพื่อตอกย้ำให้รัฐบาลทุกรัฐบาลได้มีจิตสำนึกและตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลประชาชน คนงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนงานทุกภาคส่วน

ดังนั้น คสรท. และ สรส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสิทธิและบทบาทของคนงานหญิง ด้วยการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันสตรีสากล เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาล ในการยกระดับสิทธิ และสวัสดิภาพของคนงานหญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมต่อไป