วันที่ 8 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า...เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 68,331 คน ตายเพิ่ม 243 คน รวมแล้วติดไป 680,821,343 คน เสียชีวิตรวม 6,806,127 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซีย และออสเตรีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.81 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 72.42

...อัพเดตความรู้โควิด-19 และ Long COVID

เหตุใดไวรัสโควิด-19 จึงทำให้เกิดความผิดปกติได้หลากหลายอวัยวะ? หลายคนคงสงสัยว่า ในเมื่อมีการตีฆ้องร้องป่าวมาตลอดว่าโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ บางคนบอกก็แค่หวัดธรรมดา แต่เหตุใดทางการแพทย์จึงพบปัญหาตามมาในหลากหลายอวัยวะของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อที่รู้จักกันในนามของ Long COVID (ภาพที่ 1)

หนึ่งในคำตอบคือ การที่ไวรัสนี้สามารถจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ ซึ่งตัวรับนี้ไม่ได้มีแค่ในระบบทางเดินหายใจอย่างหลอดลมและเนื้อปอดเท่านั้น แต่ยังมีในอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย ตั้งแต่เซลล์บุเส้นเลือด ตับ ไต อัณฑะ ลำไส้เล็ก หัวใจ รวมไปถึงเซลล์ผิวหนังชั้นต่างๆ อีกด้วย (ภาพที่ 2) การเข้าใจถึงพยาธิกำเนิด และกลไกเหล่านี้ จึงมีความสำคัญ ที่จะกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ

...ปัญหา Long COVID ในทางเดินอาหาร
Xu E และคณะจากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาติดตามผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 154,068 คน ในระยะเวลา 1 ปีหลังจากที่ติดเชื้อ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ พบว่ากลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารมากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ามีอัตราการเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นราว 60 คนต่อ 1,000 คน หรือราว 6% (ภาพที่ 3-4)

ทั้งนี้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น เกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้ออาการน้อย ไม่ต้องรับการรักษาใน รพ. จนไปถึงคนที่ติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรง โดยป่วยรุนแรงจะเสี่ยงมากกว่าป่วยอาการน้อย อาการผิดปกติของทางเดินอาหารที่เกิดขึ้นนั้นมีหลากหลาย อาทิ กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องผูก ลำไส้แปรปรวน รวมถึงความเสี่ยงต่อผลตรวจเลือดเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด และการทำงานของตับและทางเดินน้ำดีที่ผิดปกติ

...ในยุคที่เปลี่ยนผ่านของโรคระบาด โดยยังมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้ต่อเนื่อง ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ สัจธรรมที่เห็นและพิสูจน์จากการวิจัยทางการแพทย์ทั่วโลก สะท้อนให้เราทราบว่า การติดเชื้อโควิด-19 ไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ติดแล้วป่วยได้ ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ในหลากหลายอวัยวะตามมาในระยะยาว

ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศให้ดีกว่าในอดีต ทั้งที่ทำงาน ที่เรียน ที่กินดื่ม ที่เที่ยว การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ทั้งโควิด-19 และ PM2.5