วันที่ 7 มี.ค.66  เพจ รามาแชนแนล Rama Channel  เผยแพร่บทความ เรื่อง  ไบโพลาร์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อันตรายแค่ไหน? โดย  ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนี้ ...

ไบโพลาร์ คำที่มักถูกใช้บอกเล่าอาการของคนที่มีอารมณ์เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หลายครั้งถูกมองว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า แม้ว่า ไบโพลาร์ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวชเช่นเดียวกันกับโรคซึมเศร้า แต่อาการความผิดปกติทาง ด้านอารมณ์ ก็ต่างกันออกไปอย่างชัดเจน

โดยลักษณะอาการของโรคไบโพลาร์จะแบ่งอารมณ์เป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ อารมณ์เศร้ามากหรืออารมณ์ดีมากผิดปกติ โดยอารมณ์ทั้ง 2 ขั้วนี้จะเกิดขึ้นในคนละช่วงเวลากันแต่ละขั้วอาจจะมีเวลายาวนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์

ไบโพลาร์เกิดจากอะไร ? 

สาเหตุหลักของ ไบโพลาร์ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติหรือเกิดจากพันธุกรรม ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การเสพสารเสพติด ความเครียดจากครอบครัว การทำงาน หรือมีเรื่องที่กระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง 

อาการของโรคไบโพลาร์

ไบโพลาร์ จำแนกอาการจะออกเป็น 2 ขั้วคือ อารมณ์ดีผิดปกติและอารมณ์เศร้ามากผิดปกติ

- อารมณ์ดีผิดปกติ  มีโปรเจค กิจกรรมเพิ่มขึ้นมาก  มีความมั่นใจในตัวเองสูง   พูดเยอะ พูดมาก พูดไม่หยุด   นอนไม่หลับ หรือไม่ยอมนอน

ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย   มีอารมณ์ทางเพศสูง   หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง

- อารมณ์เศร้ามากผิดปกติ  ซึมเศร้า หดหู่ เบื่อหน่าย  เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว  รู้สึกไร้ค่า น้อยเนื้อต่ำใจกับตัวเอง  เก็บตัวไม่อยากพบเจอใคร  สมาธิสั้น โฟกัสอะไรได้ไม่นาน  คิดฆ่าตัวตาย

วิธีรักษาโรค ไบโพลาร์

โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยการรักษาของโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและระดับความรุนแรงของโรคโดยมีวิธีการรักษา ได้แก่  ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับยาและบำบัดทางการแพทย์,  กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และห้ามหยุดยาเอง, คนรอบข้างควรมอบความเข้าใจ กำลังใจให้แก่ผู้ป่วยและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

แม้ว่าจะโรค ไบโพลาร์ จะเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง การดูแลสภาพจิตใจและการช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ และหากเป็นแล้วควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ขอบคุณข้อมูลและภาพ เพจ รามาแชนแนล Rama Channel