วันที่ 7 มี.ค.66 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ระบุว่า...
วิตามิน บี 6 มากไป เส้นประสาทอักเสบ
หมอทั่วไปโดยเฉพาะหมอทางสมองและระบบประสาท เริ่มสงสัย สังเกตและจับตามอง ภาวะผิดปกติของเส้นประสาทที่อธิบายไม่ได้ ทั้งนี้ จากการที่ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ไม่ได้ผอมแห้งแรงน้อย ขาดอาหาร หรือมีโรคตับ แต่กลับมีอาการทางเส้นประสาท ในลักษณะของชา แสบร้อน ตามปลายเท้าปลายมือ จนกระทั่งมีอาการปวดกระดูกจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง และในบางรายมีกระตุกของกล้ามเนื้อ การทรงตัวผิดปกติ เดินเซ และ จนกระทั่งมีรายงาน ปัสสาวะบ่อย ทั้งกลางวันและกลางคืนและในที่สุดปัสสาวะไม่ออก (ขนาดที่ใช้อยู่ที่ 10 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลาสามปี) และเมื่อหยุดใช้อาการดีขึ้นตามลำดับ โดยไม่มีสาเหตุอย่างอื่น
และมีรายงานทางวารสารทางระบบประสาท และศูนย์ พิษวิทยา มากขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นคือ ผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการเสริมวิตามิน บี รวม โดยที่มีปริมาณของ บี 6 ในขนาดสูง โดยที่หมอที่สั่งจ่ายหรือคนที่กิน อาจจะไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นส่วนผสม ที่อยู่ในวิตามินเกลือแร่ ที่ขายกันทั่วไปและมีการกินหลายยี่ห้อผสมกัน ทั้งนี้ โดยที่ไม่ได้มีคำเตือนถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากในระยะแรก ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่าควรจะเป็นในขนาดเท่าใด โดยที่ถือว่าเป็นวิตามินที่ละลายน้ำและสามารถขับถ่ายออกได้
ขนาดของวิตามินรวม ที่มี บี 6 โดยต้องใช้ในปริมาณที่สูงขึ้น ถึงวันละ 10 ถึง 25 มิลลิกรัม เป็น การรักษา (therapeutic dose) ในกรณีที่จำเป็น เช่น เมื่อต้องกินยารักษาวัณโรค isoniazid รวมทั้งเมื่อเกิดผลข้างเคียงจากกินยา isoniazid นี้ จนกระทั่งเกิดมีชักขึ้น และในคนท้องที่มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง (hyperemesis gravidarum) และในผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติ ทางโภชนาการทำให้มีระดับวิตามินทั้งหลาย ลดลงและเกิดอาการทางระบบประสาทได้เช่นกัน
นอกจากยา isoniazid ยังมียาอื่นๆเช่น cycloserine penicillamine ยาในโรคพาร์กินสัน levodopa ที่ทำไห้ ระดับของวิตามินบี 6 ต่ำลง และ บี 6 ยังใช้ในการรักษาภาวะที่ขาดแมกนีเซียม
สำหรับเหตุผลอื่นๆ ที่ต้องมีการเสริม วิตามินบี 6 เนื่องจากในคนสูงอายุ โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว มักได้รับสารอาหารที่มีบี 6ไม่พอ โดยที่ บี 6 จะอยู่ในเนื้อสัตว์ ตับ ปลา ถั่ว และถั่วเลนทิล และอาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มีการเก็บนาน และหุงต้มจะทำให้ปริมาณ บี 6 ลดลงไป 10 ถึง 50%
อาการของการขาด จะเหมือนกับที่ ได้ วิตามินบี 6 มากเกินไป จนอาจทำให้สับสนว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งอาจจะต้องมีการเจาะระดับของวิตามิน ในเลือดร่วมด้วย พร้อมกับพิจารณาสาเหตุอย่างอื่นประกอบ เช่น อาการทางระบบประสาท โดยเฉพาะที่มีอาการชาเจ็บแสบนั้นเกิดจากเบาหวาน ต่อมไธรอยด์ ทำงานน้อย ติดเชื้อเอชไอวี ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด จนกระทั่งถึงซิฟิลิส โรคภูมิคุ้มกันแปรปรวน โรคที่มีการสร้าง โปรตีนจากไขกระดูกผิดปกติ (monoclonal gammopathy) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และพิษของยา รวมยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็ง พิษโลหะหนัก สารเคมีฆ่าแมลง organophosphorus
ขนาดตามปกติ ของวิตามินบี 6 ที่ร่างกายต้องการต่อวัน อยู่ที่ 0.5 ถึง 1 มิลลิกรัม ในเด็ก และในวัยรุ่นและ ผู้ใหญ่ อยู่ที่ ขนาด 1.3 มิลลิกรัม ในผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี ขนาด 1.7 มิลลิกรัม แต่ในผู้หญิงที่อายุเกิน 50 ปีนั้น อยู่ที่ขนาด 0.5 มิลลิกรัม
ทั่วไปนั้น เพื่อไม่ให้ยุ่งยาก สำหรับผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย ขนาดโดยรวมอยู่ที่ 1.9 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับในคนที่สูงอายุจริงๆ ปริมาณจะสูงขึ้นได้แต่ไม่ควรเกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน
กลไกการเกิดพิษของวิตามินบี 6 ยังขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะเวลาที่กิน โดยเป็นไปได้ว่า มีการยับยั้งเอนไซม์ pyridoxal-5-phosphate dependent enzymes
ในหลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ได้มีการติดตามการใช้วิตามินบี รวม บี 6 อย่างใกล้ชิด โดยได้ทำการปรับขนาดของวิตามิน บี 6 ในผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ลดลงจากวันละ 200 มิลลิกรัม เป็นห้ามเกิน วันละ 100 มิลลิกรัมในผู้ใหญ่ และขนาดลดลงในเด็ก
จนกระทั่งถึง วันที่ 5 สิงหาคม 2022 เช่น จาก 32 รายที่มีการรายงาน พบว่า 22 ราย ยืนยันโดยมีระดับในเลือดสูง พร้อมกับมีอาการของเส้นประสาทอักเสบ และ 21 รายมีการใช้วิตามิน บี 6 ในขนาดวันละ 50 มิลลิกรัมหรือน้อยกว่า ในเก้ารายพบว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์หลายชนิดควบรวมซึ่งแต่ละชนิดมีวิตามินบี 6 อยู่ด้วย
และด้วยผลข้างเคียงดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ที่มีขนาดของ บี 6 ที่ กินเกิน 10 มก ต่อวัน ต้องมีฉลากเตือนอย่างชัดเจน ถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากเส้นประสาทอักเสบ ตามประกาศในวันที่ 4 ตุลาคม 2022 (Australian Government. Department of Health and Aged Care/Therapeutic Goods Administration)
สำหรับในสหรัฐการเสริมวิตามิน บี 6 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะอยู่ในขนาดไม่เกิน อาทิตย์ละ 50 ถึง 100 มิลลิกรัม (American Journal of Therapeutics เดือน พย/ธค 2022)
ถึงตรงนี้ ไม่ใช่ต้องกลัว วิตามินมากเกินไป ทั้งนี้ เนื่องจากวิตามินเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายในการเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และอยู่ในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน โดยต้องกินอาหารสุขภาพให้ครบ แต่ใน คนสูงอายุ คนท้อง หรือ อยู่ในสภาพการที่ไม่ปกติ หรือใช้ยาบางอย่างร่วมอยู่ด้วย อาจจำเป็นต้องใช้วิตามินเสริม แต่ต้องดูขนาดที่เหมาะสม และต้องไม่ถึงกับเสริมมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับ บี 6 วันละไม่เกิน 10 มก ก็พอครับ