วันที่ 7 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 43,912 คน ตายเพิ่ม 285 คน รวมแล้วติดไป 680,728,173 คน เสียชีวิตรวม 6,805,552 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย ไต้หวัน โรมาเนีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.6 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.52
...คำเตือนอย่างสม่ำเสมอให้ตระหนักถึงปัญหาหลังติดเชื้อ
US CDC ได้เผยแพร่คำเตือนเรื่อง Long COVID เมื่อวานนี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องปัญหาที่จะเกิดภายหลังจากการติดเชื้อ
การติดแต่ละครั้งจะทำให้เสี่ยงต่อการป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต ทั้งตอนติดเชื้อ หรืออาจส่งผลให้โรคต่างๆ ที่มีอยู่นั้นกำเริบรุนแรงได้
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อปัญหาอาการผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID ที่นำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ บั่นทอนคุณภาพชีวิต และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมา
ความรู้ทางการแพทย์จนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด สมอง ปัญหาการแข็งตัวของเลือดเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตัน รวมถึงโรคเบาหวาน ฯลฯ (ภาพที่ 2-3)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเกิด Long COVID ได้สูงขึ้น ได้แก่ เพศหญิง อายุมาก การมีโรคประจำตัว ตลอดจนกลุ่มคนที่มีปัญหาด้านเศรษฐานะ และการไม่ได้รับวัคซีน
วิธีป้องกัน Long COVID ที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ
การฉีดวัคซีนจนครบเข็มกระตุ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้ราว 19-40%
ในขณะที่เรื่องยานั้น ในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ยาบางประเภท เช่น Ensitrelvir และ Metformin ช่วยลดเสี่ยงต่อ Long COVID ได้ด้วย อย่างไรก็ตามการเข้าถึงยาอย่าง Ensitrelvir ก็ยังคงเป็นเรื่องท้าทาย
ความใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็น ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวสม่ำเสมอ
เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง
ปรับปรุงการระบายอากาศให้ดี ทั้งที่ทำงาน ที่เรียน ที่กินดื่ม ที่เที่ยว
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ทั้งโควิด-19 และ PM2.5
อ้างอิง
1. US CDC. 6 March 2023.
2. JCI Insight. 1 June 2021.
3. Nature Reviews Microbiology. 13 January 2023.
4. Health Affairs. March 2023.
5. SSRN. 6 March 2023.