"กทม."ยังอ่วม! ฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน 55 พื้นที่ เฉลี่ย 41-73 มคก./ลบ.ม. ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง เตือน 7 -8 มี.ค. พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูง ขณะะที่"กรมควบคุมมลพิษ"เข้มตรวจจับ-ปรับจริง"รถควันดำ"

 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.66 ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 6 มี.ค.66 เวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 41-73 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 54.9 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานและอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพบางพื้นที่ 
 
ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองPM2.5 ได้ 43-73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 55 พื้นที่ 
 
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง(คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในช่วงวันที่ 6 - 12 มี.ค. 66  การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แต่ยังอยู่ในสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 เกิดการสะสมตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในวันที่ 8 มี.ค.66 เป็นต้นไป อากาศเริ่มอยู่ในสภาวะเปิด ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 เกิดการสะสมตัวมีแนวโน้มลดลง ในช่วงนี้มวลอากาศเย็นยังแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน แต่เริ่มมีกำลังอ่อนลง มีอากาศเย็นตอนเช้า กลางวันอากาศร้อน (ท้องฟ้าโปร่ง เมฆน้อย) ระยะนี้ไม่มีฝน ทิศทางลมเริ่มแปรปรวนเป็นลมทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ และลมใต้ พัดแทนที่ลมหนาว เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อน ควรระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งในระยะนี้ และวันนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน

 ระหว่างวันที่ 7 - 8 มี.ค.66 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 66 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงานNASA พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดังนี้
    
 วันที่ 5 มี.ค.66 เวลา 13.24 น. จำนวน 2 จุด ได้แก่ แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ และแขวงลำผักชี เขตหนองจอก วันที่ 5 มี.ค.66 เวลา 14.11 น. จำนวน 1 จุด ได้แก่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง
 เพื่อให้ประชาชนวางแผนการทำงาน การทำกิจกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ/มีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งนี้ กรณีประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondue

 ขณะที่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สะสมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก ในช่วงเดือนธ.ค.65 ถึงเดือนเม.ย.66 ยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี66 จึงให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ

 โดยภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดทำโครงการ และมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันและลดฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ เช่น โครงการ คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 สนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อลดควันดำ และมีมาตรการตรวจรถควันดำ ได้เพิ่มจุดตรวจเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องปรามมิให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง เป็นต้น

 ทั้งนี้ นายปิ่นสักก์ ยังกล่าวว่า มาตรการตรวจรถควันดำ ตั้งแต่เดือนต.ค.65 - วันที่ 28 ก.ค.66 คพ. ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำแบ่งเป็นพื้นที่ กทม. ตรวจสอบสะสม 109,696 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานสะสม 23,707 คัน ห้ามใช้สะสม 1,503 คัน และพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบสะสม 55,635 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐาน 1,367 คัน ห้ามใช้สะสม 1,367 คัน จากสถิติในภาพรวมพบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานมีจำนวนประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ จากรถยนต์ที่เรียกตรวจ

 อีกทั้งทางภาครัฐยังเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ "ตรวจจับ ปรับจริง-ห้ามใช้รถควันดำ" บังคับใช้บทลงโทษสูงสุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า - ออก ซึ่งประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้ารับบริการได้ที่โครงการ คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถยนต์ จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย TOYOTA ISUZU MITSUBISHI NISSAN MAZDA FORD HONDA SUZUKI และ HINO ซึ่งมีจำนวน 1,774 ศูนย์บริการฯ รองรับรถยนต์เข้าร่วมโครงการฯ 426,000 คัน สนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อลดควันดำ