สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การจัดที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน การพัฒนาเกษตรกร และการบริหารเงินกองทุนเพื่อการปฏิรูปที่ดิน โดยมีเป้าหมายสำคัญมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว่า ปี 2566 ส.ป.ก. ยังคงดำเนินภารกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดที่ดิน มีแผนจัดที่ดินให้กับเกษตรกร จำนวน 37,000 ราย พร้อมทั้งนำเทคโนโลยี Application Line มาปรับใช้ในการให้บริการเกษตรกร เพื่อเป็นช่องทางตอบข้อซักถามของเกษตรกร รวมถึงการจองคิวออนไลน์ก่อนเข้ามารับบริการที่สำนักงาน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งยังเร่งรัดปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน

ด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส.ป.ก. ได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นทั้งในด้านที่อยู่อาศัย และไฟฟ้า ที่ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานบูรณาการ 9 หน่วยงาน ที่ได้ทำ MOU ร่วมกัน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจัดสรรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรักและหวงแหนที่ดิน สืบทอดไว้ให้ลูกหลาน

ส.ป.ก. ได้ขับเคลื่อนงานผ่านกลไกการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ ผู้แทน/ผู้นำเกษตรกร/อสปก./ผู้นำ ท้องถิ่น ต้นแบบศูนย์เรียนรู้ รวมถึงภาคเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน ประชาชน และสถาบันการศึกษา โดย ส.ป.ก. ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่ (Area Manager) ประสานงานและบูรณาการ ความร่วมมือในพื้นที่ และสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ทั้งข้อมูล องค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์ แหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน อาคาร โรงเรือนต่างๆ การตรวจรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า และการประสานเชื่อมโยงการตลาด โดยเน้นให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานแบบมีส่วนร่วม

ด้านการพัฒนาเกษตรกร ส.ป.ก. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมสร้างและพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง กิจกรรมส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กิจกรรมพัฒนา ธุรกิจชุมชน ซึ่งในปี 2566 มีแผนการพัฒนาเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมากกว่า 7,200 ราย อีกทั้งยังมีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการผลิตผ่านระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 5,680 ไร่ และมีการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 500 ราย

ด้านบริหารเงินกองทุนเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. มีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 700 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และเพื่อบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดคน โรคระบาดสัตว์ ภัยพิบัติต่างๆ

นอกจากนี้ ส.ป.ก. ได้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากร โดยเน้นให้บุคลากรเรียนรู้และพัฒนาตนเอง การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาในรูปแบบใหม่ (New normal) โดยนำเทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ มาปรับใช้ในกระบวนการฝึกอบรมบุคลากร สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ทุกที่ ในรูปแบบ Work from Anywhere (WFA) รวมทั้งมีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในองค์กร หรือที่เรียกว่า “Unit School” เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานได้อย่างมีความสุข

“ทิศทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในอนาคต ส.ป.ก. ยังคงยึดหลักและน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงให้แก่เกษตรกร เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ทั้งยึดหลัก “การตลาดนำการผลิต” ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาดที่หลากหลาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกร ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวทิ้งท้าย