วันที่ 6 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมนำเสนอนิทรรศการ เรื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING โชว์ผลงานความสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบาย CODING ให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ในวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 08.30-09.30 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดงานสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิทยาศาสตร์และ CODING ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบ รวมไปถึงผลการดำเนินงาน ในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของตนตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษาตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป จึงได้มีแนวคิดในการนำนิทรรศการจากโรงเรียน ที่ได้รับความสนใจจากในงานมานำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีโอกาสเยี่ยมชมและเห็นถึงศักยภาพ ในการจัดการเรียนการสอนเรื่อง CODING

โดยการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้า และความสำเร็จในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน CODING ของประเทศไทยในทุกระดับ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อ 7 ในการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ข้อ 7.1 การสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยยุคใหม่เก่งฯ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

ซึ่งได้จัดแสดงนิทรรศการอกเป็น 2 ส่วน จาก 2 โรงเรียนที่ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ได้อย่างชัดเจนในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน ตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผน และลงมือทำอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็นทักษะชีวิตประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 : โรงเรียนร่วมจิตประสาท กิจกรรมตัวอย่างการเรียนรู้วิชา CODING ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 โดยโรงเรียนมุ่งเน้นการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อตอบสนองนโยบายของโรงเรียนเกี่ยวกับนักเรียนเมื่อจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องมีอาชีพที่ถนัดอย่างน้อยหนึ่งอาชีพ และยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพหลักให้เกิดกับนักเรียนและชุมชน

ส่วนที่ 2 : โรงเรียนชุมชนบ้านดอยช้าง เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ที่มีความโดดเด่นในการดำเนินโครงการ ด้วยความยากลำบากของพื้นที่ เป็นที่สูงและเป็นดินลูกรัง จะปลูกอะไรก็ยาก เพราะฉะนั้นการใช้อัจฉริยะทางความคิด คิดวิเคราะห์แล้วใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้ได้ผลผลิตที่ดีจนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเพียง 6 เดือนเท่านั้น หลังจากเริ่มต้นโครงการในปี 2562

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย CODING มีผลการดำเนินงานหลักประกอบด้วย 1.การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนให้กับคนไทย โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียน CODING แบบ Unplugged ในระดับประถมศึกษาตอนต้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้การจัดการเรียนการสอน CODING ให้แก่ผู้บริหารการศึกษา วิทยากรแกนนำ ครู ศึกษานิเทศก์ บุคคลทั่วไป 2.ผลิตคลิปวิดีทัศน์การสอนออนไลน์ Project 14 ที่เน้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด เชื่อมโยงชีวิตจริง สะดวกในการเข้าถึง ใช้งานง่าย ทดแทนการสอนของครูในชั้นเรียนปกติ รวม 2,354 คลิป โดยมีผู้เข้าชมแล้วกว่า 12 ล้านครั้ง 3.ต่อยอดพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และ CODING เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ให้กับนักเรียนปกปกติและกลุ่มเด็กพิเศษ ได้แก่ การดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming และโครงวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

และ 4. สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาดำเนินการ เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้กับผู้เรียน โดยปัจจุบันนักเรียนได้รับบริจาค Smart Devices รวมทั้งสิ้นกว่า 8,000 เครื่อง ใน 650 โรงเรียนเป้าหมาย

ทั้งนี้โค้ดดิ้ง (Coding) คือ การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปโค้ด (Code) เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและทำในสิ่งที่ผู้เขียนโค้ดต้องการ หรือกล่าวง่าย ๆ คือ "โค้ดดิ้ง" เป็นการเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยภาษาหรือรหัส (Code) ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ เช่น ภาษา Python, JavaScript และ C เป็นต้น ดังนั้นการโค้ดดิ้ง จึงเป็นการช่วยให้สามารถสร้างซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ เทคโนโลยีมากมายที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย แอปบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างก็อาศัยโค้ดทั้งสิ้น